PwC ประเทศไทย เผยผลสำรวจล่าสุด PwC 2014 APEC CEO Survey: New vision for Asia Pacific Connectivity creating new platforms for growth พบว่า ซีอีโอในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมั่นใจแนวโน้มการเติบโตของรายได้และธุรกิจสดใสในอีก 12 เดือนข้างหน้า มองหาแหล่งลงทุนเพิ่มโดยเฉพาะในจีน โดยไทยติดอันดับ 8 ตลาดน่าลงทุนในอีก 3-5 ปีข้างหน้าแม้เศรษฐกิจชะลอตัว แต่เอกชนโดยรวมยังขาดความพร้อมในการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิตอล วอนภาครัฐเร่งหารือข้อตกลงการค้าเสรี เพื่อหามาตรการลดข้อจำกัดและอุปสรรคการกีดดันทางการค้า เพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกิจและดึงดูดเม็ดเงินเข้าสู่ภูมิภาค
ทั้งนี้ ผลสำรวจถูกจัดทำขึ้นระหว่างช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2557 โดยทำการเก็บข้อมูลจากซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงจำนวน 635 รายในกว่า 39 ประเทศ รวมถึงประเทศสมาชิกในกลุ่ม APEC ทั้ง 21 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย
ผลจากการสำรวจที่น่าสนใจ ได้แก่ ซีอีโอที่ทำการสำรวจเกือบครึ่งหรือ 46% ที่แสดงความมั่นใจมากต่อการเติบโตรายได้ทางธุรกิจ (Revenue Growth) ของตนในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2556 ที่ 42% และ ปี 2555 ที่ 36% นอกจากนี้ ซีอีโอถึง 67% มีแผนที่จะขยายการลงทุนเพิ่มในอีก 3-5 ปีข้างหน้า สะท้อนว่าเอเปกยังคงเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
สำหรับไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในตลาดน่าลงทุน 10 อันดับแรกของภูมิภาค (43%) โดยอยู่ในอันดับเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย (43%) และตลาดที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น (43%) ที่อันดับ 8 โดยประเทศที่นักลงทุนสนใจขยายการลงทุนมากที่สุด ได้แก่ อันดับ 1 จีน (72%) อันดับ 2 สหรัฐอเมริกา (61%) อันดับ 3 อินโดนีเซีย (57%) อันดับ 4 ฮ่องกง (51%) อันดับ 5 สิงคโปร์ (50%) อันดับ 6 ฟิลิปปินส์ (47%) และอันดับ 7 เวียดนาม (45%)
ผู้บริหารในกลุ่มเอเปกเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางธุรกิจ ผู้นำหลายรายต้องการหาบทสรุปข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP) รวมถึงความชัดเจนประเด็นเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา และส่งเสริมให้เกิดความเสมอภาคในการออกกฎระเบียบ-ข้อบังคับทางการค้าระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก
ความท้าทายสำคัญของภูมิภาคนี้ คือ การขาดความพร้อมของผู้ประกอบการในการก้าวเข้าสู่การดำเนินธุรกิจในระบบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ที่นำเอาเทคโนโลยีดิจิตอลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตมวลรวมของประเทศ (Digital Economy) แม้การทำธุรกิจออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะในแถบเอเชียอย่างมากก็ตาม โดยมีผู้บริหารเพียง 12% เท่านั้นที่เชื่อมั่นว่า ธุรกิจของตนสร้างกำไรหรือได้รับผลตอบแทนจากการนำโซเชียลเน็ตเวิร์กมาใช้ในการขยายธุรกิจ
ซีอีโอถึง 57% ต้องการที่จะขยายธุรกิจของตนภายในภูมิภาคในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ส่งผลให้แต่ละประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกต้องเร่งพัฒนาการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อการค้าขาย และเป็นรากฐานสำคัญที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต
อย่างไรก็ตาม 20% ของซีอีโอในภูมิภาคมีความมั่นใจลดลงจากปีก่อนว่าตนจะสามารถเพิ่มส่วนต่างกำไร หรือ มาร์จิ้น จากการดำเนินธุรกิจในประเทศได้เปรียบเทียบกับปีที่ผานมา ขณะที่ 15% ของซีอีโอ มีความมั่นใจลดลงต่อการคาดการณ์ในเรื่องการปฎิบัติตามกฎระเบียบและภาระทางภาษีเปรียบเทียบกับปีก่อน