ทั้งนี้ จากการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลักในช่วงล่าสุดที่ผ่านมา ธปท.คาดว่าการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางยุโรป(ECB) และธนาคารกลางญี่ปุ่น( BOJ) จะยังคงอยู่ในทิศทางผ่อนคลายต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ
ขณะที่นโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) ชัดเจนต่อเนื่องว่าอยู่ในทิศทางขาขึ้น ทำให้มีวัฎจักรของนโยบายอัตราดอกเบี้ยแตกต่างกันอย่างชัดเจนขึ้น
จากถ้อยแถลงล่าสุดของ ECB เป็นการให้คำมั่นสัญญาที่มุ่งเน้นการรักษาความเชื่อมั่น เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังต่ำกว่าเป้าหมายและมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่อง ซึ่งถ้อยแถลงดังกล่าวน่าจะส่งผลดีต่ออัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม ปัจจัยที่อาจจะทำให้ ECB มีนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมน่าจะเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจภายในประเทศ แนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเป็นประเด็นหลัก อย่างไรก็ดี การตอบสนองของตลาดหรือผลของนโยบาย เช่น ปริมาณการขอกู้ TLTROs รอบสองในเดือนธันวาคม 2014 ซึ่งหากต่ำกว่าคาด ECB อาจจำเป็นต้องเข้าซื้อสินทรัพย์เพิ่มเติมเพื่อให้งบดุลขยายได้ตามเป้า
ในส่วนของญี่ปุ่นการดำเนินนโยบาย Q-Squared (Quantitative and Qualitative monetary easing) โดยการเพิ่มปริมาณฐานเงินในอัตรา 80 ล้านล้านเยนต่อปี (จากเดิมที่ 60-70 ล้านล้านเยนต่อปี) จะช่วยลดความเสี่ยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจชะลอลงกว่าที่คาดไว้จากผลของการปรับขึ้นภาษีบริโภคที่มากกว่าคาด (ข้อมูลเครื่องชี้การบริโภค เช่น Department Store Sales ยังคงหดตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ปรับขึ้นภาษีการบริโภคเป็นต้นมา) ซึ่งในระยะข้างหน้ายังต้องติดตามว่าญี่ปุ่นจะมีการปรับภาษีบริโภคขึ้นอีกหรือไม่ในปี 2558 เพราะการปรับปรุงพื้นฐานการคลังอาจส่งผลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของญี่ปุ่นได้