นอกจากสภาพรถต้องเป็นไปตามระเบียบแล้วจะเพิ่มในเรื่องความสะอาด กลิ่น เบาะที่นั่ง ระบบปรับอากาศในห้องโดยสารต้องสมบูรณ์ พร้อมมีป้ายแจ้งถึงทะเบียนและผู้ขับขี่ชัดเจนก่อน ถึงจะมีสิทธิปรับค่าโดยสารในระยะที่ 1 ประมาณ 8% ได้ จากนั้นภายใน 6 เดือนจะมีการประเมินผลการให้บริการโดยดูจากการร้องเรียนบริการ หากลดลงไม่ถึง 50% เช่น การปฏิเสธรับผู้โดยสาร ความสะอาด สภาพรถ จะถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่อาจจะไม่ได้รับการปรับค่าโดยสารในระยะที่ 2
นายอาคม กล่าวว่า ขณะนี้มีรถแท็กซี่มาตรวจสภาพระหว่างวันที่ 3-6 พ.ย.แล้ว 3,591 คัน ผ่านการตรวจสภาพ 2,759 คัน หรือร้อยละ 76.83 ที่เหลือไม่ผ่าน ในส่วนนี้ผู้ขับรถสามารถนำไปปรับปรุงเพื่อกลับมาตรวจสภาพอีกครั้งภายใน 15 วัน โดยได้เร่งให้กรมขนส่งทางบกตรวจสอบสภาพรถแท็กซี่กว่า 1 แสนคันให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
สำหรับแท็กซี่ที่ผ่านเกณฑ์แล้วจะได้รับการติดซิลค์ตะกั่ว และเมื่อประกาศค่าโดยสารใหม่จะสามารถไปปรับจูนมิเตอร์ใหม่กับ 20 บริษัทเจ้าของมิเตอร์และจะได้รับสติ๊กเกอร์สีเขียวติดที่กระจกซ้ายด้านบนแสดงสัญลักษณ์อย่างชัดเจน ส่วนแท็กซี่ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ตรวจคุณภาพนั้นจะไม่สามารถปรับราคาได้ โดยกรมขนส่งทางบกจะมีมาตรการตรวจสอบเพื่อไม่ให้แท็กซี่เหล่านั้นแอบปรับค่าโดยสาร
ในวันนี้ รมช.คมนาคม ได้ตรวจเยี่ยมและให้นโยบายกรมการขนส่งทางบกในการปรับปรุงยกระดับคุณภาพการให้บริการด้านต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยในการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) โดยเฉพาะวินัยการขับขี่ เพิ่มมาตรฐานในการออกใบอนุญาตขับรถและการจดทะเบียนรถยนต์ จากสถิติจำนวนรถยนต์ที่จดทะเบียนทั่วประเทศรวมถึง 35 ล้านคัน แบ่งเป็นรถส่วนตัวและรถจักรยานยนต์ 34 ล้านคัน เป็นรถโดยสารสาธารณะและรถขนส่งอีก 1 ล้านคันถือว่ามีจำนวนมาก รวมถึงพัฒนาโรงเรียนสอนขับรถยนต์ และศูนย์ฝึกคนขับรถโดยสารสาธารณะที่จ.ชัยภูมิ
ส่วนสถานีขนส่งในต่างจังหวัดจะปรับคุณภาพอาคารผู้โดยสารให้เทียบเท่ากับเทอร์มินอลสนามบินนำร่องที่จ.บึงกาฬและ ในปีหน้า ปรับปรุงที่ สถานีขนส่ง จ.พังงา
นอกจากนี้ ต้องตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ AEC ซึ่งมีข้อตกลงการเดินรถข้ามประเทศทั้งรถโดยสารและรถบรรทุกกำหนดโควตารถตามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ (GMS) และ AEC โดยจะขยายการให้บริการและแผนการพัฒนาการจัดระเบียบรถเข้า-ออก การตรวจสอบเอกสารและการตรวจสอบใบขับขี่จะต้องเข้มงวดเพื่อให้มีระบบและไม่มีอุปสรรค ในด้านกฎหมายที่จะลงโทษผู้กระทำผิดและระบบประกันเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจะต้องใช้กฎหมายรูปแบบเดียวกันเช่น เมื่อเกิดเหตุมีการกระทำผิดในประเทศไหนให้ใช้กฎหมายของประเทศนั้นๆ