การที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเข้าถึงแหล่งทุนมาก แต่ขาดการวางยุทธศาสตร์การส่งเสริมธุรกิจอย่างบูรณาการนั้น ได้ส่งผลทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของกลุ่มธุรกิจมากขึ้น โดยธุรกิจที่มีทุนขนาดเล็กก็ยิ่งเล็กลง ขณะที่ทุนขนาดใหญ่ก็ยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น
อย่างไรก็ดี มองว่าปัญหาสำคัญส่วนหนึ่งมาจากกฎหมายการแข่งขันทางการค้าในบ้านเรา ที่แม้จะมีการบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2542 หรือ 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่เริ่มมีกฎหมายในลักษณะนี้ แต่กลับพบว่ากฎหมายดังกล่าวยังไม่มีความเข้มแข็งมาก ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่ถือว่าประสบความสำเร็จในการบังคับใช้กฎหมายมาก โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย
"กฎหมายแข่งขันทางการค้าเป็นการวางกติกาให้ธุรกิจขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็ก เรามีกฎหมายนี้เมื่อ 15 ปีที่แล้ว มีก่อนประเทศอื่นในอาเซียน แต่ปัจจุบันกลับล้าหลังอินโดนีเซียที่ประสบความสำเร็จมาก เรามีกฎหมาย แต่ไม่เคยบังคับใช้กับใครได้เลย" นางเดือนเด่น กล่าว
นางเดือนเด่น กล่าวด้วยว่า รายได้ในภาคธุรกิจของไทยมีแนวโน้มที่จะกระจุกตัวมากขึ้น เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่มีอัตราการขยายตัวสูงกว่าบริษัทขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่หลายรายมีข้อได้เปรียบคู่แข่งเนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีอำนาจผูกขาดตามกฎหมาย หรือเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ นอกจากนี้บริษัทขนาดใหญ่ส่วนมากยังประกอบธุรกิจในภาคเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันค่อนข้างน้อย และเป็นภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับกฎ กติกาของภาครัฐมาก