ทั้งนี้ ในภาพรวมศูนย์ข้าวชุมชนตามโครงการดังกล่าว สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อจำหน่ายได้ 2,055 ตันต่อปี กระจายได้ในพื้นที่ 192,760 ไร่ ดังนั้น โครงการในระยะต่อไปควรจะสนับสนุนการกำหนดเป้าหมายเพิ่ม และคัดเลือกศูนย์ข้าวชุมชนที่มีศักยภาพ รวมถึงเกษตรกรสมาชิกมีความพร้อมในการผลิตเมล็ดพันธุ์
สำหรับหมู่บ้านต้นแบบการลดต้นทุนการผลิตข้าว พบว่า สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 900 บาทต่อตัน ผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 566 กก.ต่อไร่ เป็น 654 กก.ต่อไร่ หรือเพิ่มขึ้น 88 กก.ต่อไร่ ทำให้มีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น จากก่อนมีโครงการ 2,980 บาทต่อไร่ เป็น 5,060 บาทต่อไร่ หรือเพิ่มขึ้น 2,080 บาทต่อไร่ อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานในส่วนหมู่บ้านต้นแบบการลดต้นทุนการผลิตข้าว ควรเน้นการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เช่น การเตรียมดิน การใช้เมล็ดพันธุ์ดี การปลูกในปริมาณที่เหมาะสมกับสภาพดินตลอดจนการบำรุงรักษาที่ถูกต้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดต้นทุนและสามารถนำไปขยายผลเพื่อสนับสนุนโครงการในระยะต่อไป เลขาธิการ กล่าว
โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวและสร้างความเข้มแข็งให้ชาวนาเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียน (AFTA) ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปี 2557 เพื่อยกระดับการผลิตและปรับปรุงคุณภาพผลผลิตข้าวให้สูงขึ้น ลดต้นทุนการผลิต และสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรชาวนาในชุมชนในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้เพียงพอ โดยกรมการข้าวและกรมส่งเสริมการเกษตร ได้บูรณาการร่วมกันพัฒนาศูนย์ข้าวชุมชน รวม 55 ศูนย์ ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ อุดรธานี อำนาจเจริญ นครสวรรค์และอ่างทอง เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ได้ศูนย์ละ 50 ตันต่อศูนย์ และกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวให้ได้ปีละ 3,300 ไร่ต่อศูนย์ สำหรับการดำเนินงานเกษตรกรหมู่บ้านต้นแบบการลดต้นทุนการปลูกข้าวใน 6 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ สุรินทร์ อุดรธานี อำนาจเจริญ นครสวรรค์ อ่างทอง และนครศรีธรรมราช มีเป้าหมายสามารถลดต้นทุนการผลิตข้าว อย่างน้อย 1,000 บาทต่อตัน ภายใต้งบกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (FTA) 128.91 ล้านบาท