ในหลักการเบื้องต้นภาษีที่ดินฯ จะเข้ามาทดแทนภาษีบำรุงท้องที่และโรงเรือนเดิมที่จะถูกยกเลิกไป โดยจะจัดเก็บภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยเป็นอัตราหนึ่ง ที่ดินเชิงพาณิชย์อีกอัตราหนึ่ง และ ที่ดินว่างเปล่าจะเก็บในอัตราสูงสุด ส่วนสิ่งปลูกสร้างจะมีรูปแบบการจัดเก็บตามขนาด และมีราคากลางกำหนดชัดเจน แต่อัตรายังอยู่ระหว่างการหารือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
"หลังจาก สนช. พิจารณาภาษีมรดก และประกาศใช้เป็นกฎหมายเรียบร้อย หลังจากนี้จะเริ่มกระบวนการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้มีความชัดเจนมากขึ้น แต่ยังไม่มีการกำหนดอัตราแน่นอน เพราะอยู่ระหว่างกระบวนการทำงาน...หลังจากกระบวนการเสร็จสิ้นจะให้เวลาในการปรับตัวอีกประมาณปีครึ่ง"รมว.คลัง ระบุ
ทั้งนี้ ภาษีที่ดินฯ จะทำให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐเพิ่มขึ้น 6-7% หลังจากการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่และโรงเรือนได้หลักหมื่นล้านบาท แต่มีการรั่วไหล เพระกฎหมายไม่รัดกุมเพียงพอ
นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการปฎิรูปโครงสร้างภาษีต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น ภาษีสรรพสามิตที่อยู่ระหว่างพิจารณาจัดเก็บภาษีที่แปลกใหม่เพิ่มขึ้น ที่เสนอเข้ามาตอนนี้ เชน ภาษีไวน์ ที่มีการเสนอให้จัดเก็บเป็นอัตราเดียวกับภาษีแอลกอฮอล์ แต่จะต้องดูไม่ให้กระทบกับประชาชน
นอกจากนี้ นายสมหมาย ยังยืนยันว่า จะต้องมีการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) เมื่อครบกำหนดการลดอัตราภาษี 7% ส่วนจะปรับขึ้นในอัตราเท่าใดและช่วงเวลาใดนั้นคงต้องดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจประกอบด้วย และต้องดำเนินการเพื่อปิดช่องโหว่ทางด้านภาษีควบคู่กันไปด้วย
รมว.คลัง ระบุว่า แนวทางการปฎิรูปภาษีจะทำให้ในปีงบประมาณ 59 รายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นพอสมควร และปีงบประมาณ 60 รายได้จะเพิ่มขึ้นอย่างเต็มที่
"นี่คือการปฏิรูปภาษี ไม่แปลกที่ตื่นนอนมาเราจะพบว่าตัวเองต้องเสียภาษี แต่ว่ากฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะมีการบอกล่วงหน้าอย่างน้อยปีครึ่ง ไม่อยากให้คนตื่นตระหนก ส่วนใครที่ไม่อยากเสียภาษีก็ให้ไปเช่าอพาร์ตเม้นท์อยู่"นายสมหมาย กล่าว
พร้อมกันนั้นจะมีการพิจารณาเรื่องงบประมาณรายจ่ายให้มีความเหมาะสมมากขึ้น โดยในปีงบประมาณ 58 เห็นว่าจะต้องมีการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการพัฒนาสังคมให้มีความเป็นรูปธรรมและชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้เงินตกถึงมือประชาชนในชนบทอย่างแท้จริง และมองว่าหากมีความจำเป็นต้องเพิ่มยอดงบประมาณรายจ่ายก็ต้องทำในส่วนที่จำเป็น ต้องมีการบริหารหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้เหมาะสม โดยเฉพาะหนี้จำนำข้าวที่สูงถึง 6-7 แสนล้านบาทก็ต้องดำเนินการไปในระยะยาว
รมว.คลัง กล่าวถึงแนวคิดการปรับขึ้นภาษีน้ำมันว่า เป็นนโยบายของกระทรวงพลังงานที่สามารถทำได้ทันที โดยกระทรวงคลังไม่มีส่วนในการตัดสินใจในเรื่องนี้ ที่ผ่านมารมว.พลังงาน มีการพูดเรื่องนี้ชัดเจนอยู่แล้ว โดยส่วนตัวมองว่าหากมีการปรับขึ้นภาษีในส่วนดังกล่าวจริงจะเป็นผลดีต่อกระทรวงการคลังในแง่รายได้ที่เพิ่มขึ้น การจัดเก็บภาษีที่สูงขึ้นส่วนหนึ่งจะสะท้อนราคาที่แท้จริง โดยเฉพาะในส่วนดีเซล อย่างไรก็ตาม อาจจะยังไม่ได้เห็นภายในปลายปีนี้แต่อาจจะเป็นต้นปีหน้า