"หม่อมอุ๋ย"แนะปรับโครงสร้างพลังงาน-ภาษี-ขนส่ง-ศึกษาให้ศก.ไทยโตยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 11, 2014 18:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา"ทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 58 : ก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำเศรษฐกิจ"ว่า การที่เศรษฐกิจไทยจะยั่งยืนได้นั้น จำเป็นต้องแก้ไขจุดอ่อนทางโครงสร้างที่สำคัญทั้ง 4 โครงสร้างให้ได้ก่อน ซึ่งได้แก่ โครงสร้างด้านพลังงาน โครงสร้างทางภาษี โครงสร้างด้านการขนส่ง และโครงสร้างทางการศึกษา

สำหรับโครงสร้างด้านพลังงานนั้น ประเทศไทยมีจุดอ่อนจากการใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย โดยพบว่าในปี 57 มีการใช้พลังงานคิดเป็นมูลค่าถึง 18% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ(GDP) ซึ่งเพิ่มขึ้นมากจากปี 35 ที่มีการใช้พลังงานคิดเป็นมูลค่าเพียง 9% ของ GDP ซึ่งประเด็นสำคัญคือต้องลดการอุดหนุนลง เพราะหากจุดอ่อนนี้ไม่ได้รับการแก้ไข จะทำให้ประเทศไทยยิ่งพัฒนาก็จะยิ่งแพ้ประเทศอื่น

ส่วนโครงสร้างทางภาษี พบว่าประเทศไทยมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ไม่สมดุล เนื่องจากในระหว่างที่ประเทศพัฒนาขึ้น แต่งบรายจ่ายลงทุนของประเทศกลับมีสัดส่วนลดลงทุกปี ล่าสุดเหลืออยู่เพียง 17.5% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายรวม ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างภาษีใหม่ ซึ่งนอกจากจะมีการเก็บภาษีตัวใหม่ๆ เพื่อขยายฐานภาษีเพิ่มขึ้นแล้ว ยังจะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น

ด้านโครงสร้างการขนส่งนั้น ปัจจุบันประเทศไทยมีต้นทุนในการขนส่งจำนวนมหาศาล ยิ่งประเทศมีการพัฒนามากขึ้นเท่าใดต้นทุนขนส่งยิ่งฟุ่มเฟือยมากขึ้นเท่านั้น จึงเป็นสาเหตุที่ต้องปรับปรุงโครงสร้างอย่างจริงจัง

ขณะที่โครงสร้างทางการศึกษานั้น ประชากรที่อยู่ในเมืองและนอกเมืองมีคุณภาพการศึกษาที่ต่างกันค่อนข้างมาก ประกอบกับการผลอตบัณฑิตเพื่อวิชาชีพยังมีน้อยกว่าบัณฑิตเพื่อการศึกษาทั่วไป ดังนั้นจะต้องมีการผลักดันในเรื่องนี้ให้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังเห็นว่านโยบายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจะมีความต่อเนื่องได้จะตัองนำเรื่องการศึกษาแยกออกจากการเมือง ไม่ใช่พอเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ นโยบายด้านการศึกษาก็เปลี่ยนไปด้วย

"การจะทำให้เศรษฐกิจมีความยั่งยืนได้นั้น จะต้องเริ่มจากการทำให้คนในชนบทมีรายได้สูงขึ้น โดยเฉพาะภาคเกษตรกร ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนให้มีการปลูกพืชอื่นที่เป็นประโยชน์และมีความต้องการรองรับของตลาดเพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ รวมทั้งการปรับปรุงพันธุ์พืชที่ดีขึ้น"ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว

ด้านนายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงแนวคิดมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเป็นระบบว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่มีความชัดเจน ซึ่งอาจกำหนดในรูปแบบ พ.ร.บ.ออกแบบและปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกับดีมานด์และซัพพลาย รวมถึงปรับปรุงคุณภาพและความสะอาดของสินค้าเกษตร พร้อมทั้งหาหลักประกันให้กับพืขผลทางการเกษตรของเกษตรกรด้วย

นอกจากนี้ ต้องมีการแก้ไขปัญหาเรื่องการถือครองที่ดินของเกษตรกรให้มีสิทธิ์อย่างเท่าเทียมและถูกต้องตามกฏหมาย พร้อมทั้งบริหารจัดการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรที่มีการสะสมมาเป็นเวลานาน และต่อยอดนำเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์มาช่วยเหลือสหกรณ์ารเกษตรอื่นๆ ทั้งนี้จะต้องมีการปรับปรุงและเพิ่มความสามารถทางการผลิต ยกระดับคุณภาพสินค้าทางการเกษตร และส่งเสริมเพิ่มมูลค่าให้มากยิ่งขึ้น

"เป็นแนวคิดที่รัฐบาลดูอยู่ เช่น การใช้ยางในประเทศเพียง 13% ทำอย่างไรให้มีการลงทุนใช้ผลผลิตในประเทศมากขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็โคกับด้านพลังงานมองเห็นทางไปได้ด้วยดี ซึ่งต้องปรับปรุงคุณภาพ ปรับปรุงตลาดล่วงหน้าให้เกิดความสามารถจริงๆไปรวมกับตลาดหลักทรัพย์ได้หรือไม่เป็นเรื่องที่ต้องไปคิด" นายปิติพงศ์ กล่าว

นอกจากนี้ ต้องมีการปรับปรุงระบบฐานข้อมูลของเกษตรกรให้สามารถเข้าถึง และได้ข้อมูลตัวเกษตรกรที่ถูกต้องเพื่อที่จะสามารถวางแนวทางการให้ความช่วยเหลือได้อย่างถูกต้องต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ