นอกจากนี้ ไทยขอขอบคุณญี่ปุ่นในฐานะมิตรเก่าที่มีบทบาทในการสนับสนุนการพัฒนาอนุภูมิภาคนี้ ลุ่มน้ำโขงยังมีศักยภาพอีกมาก มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเอเชียและโลก ถือได้ว่าเป็นสุวรรณภูมิ ไทยในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาพร้อมร่วมมือกับญี่ปุ่น เพื่อลดช่องว่างการพัฒนา โดยความร่วมมือสามฝ่ายตามยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว 2012 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและประขาชนมีส่วนร่วม
โดยนายกรัฐมนตรีได้ย้ำประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ ดังนี้ ประการแรก ไทยพร้อมร่วมมือกับญี่ปุ่นเพื่อเสริมสร้างฐานการผลิตใน ลุ่มน้ำโขง ในลักษณะ+1 เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ และสนับสนุนการเป็นฐานการผลิตเดียวของอาเซียนใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐานตาม แนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก โดยเฉพาะในฝั่งตะวันตก ซึ่งไทยยินดีที่ได้พัฒนาเส้นทางถนนเมียวดี-เชิงเขาตะนาวศรี-กอกะเร็ก และพร้อมจะร่วมมือพัฒนถนนกอกะเร็ก-เมาะลำไย รวมทั้ง สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2
ในการนี้ รัฐบาลไทยมีข้อริเริ่มเพื่อรองรับการลงทุน อาทิ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษและศูนย์ฝึกอบรมฝีมือแรงงานตามแนวชายแดน เพื่อเปลี่ยนเส้นเขตแดนเป็นเส้นแห่งความร่วมมือ
นอกจากนี้ ไทยยินดีที่ญี่ปุ่นสนใจจะร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเรือและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย รวมทั้งเชิญชวนให้ญี่ปุ่นร่วมพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด เพื่อเชื่อมโยงกับโครงการทวายด้วย นักลงทุนจะได้รับประโยชน์จากยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แผนพัฒนาระบบโลจิกติกส์ และนโยบายส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานส่วนภูมิภาคในไทย ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นให้เพิ่มมากขึ้น
ประการที่สอง ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ภัยพิบัติเพียงครั้งเดียวสามารถทำลายการพัฒนาที่ได้ดำเนินมาเป็นเวลานาน ความร่วมมือด้านการจัดการและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติจึงเป็นเรื่องสำคัญและควรส่งเสริม ให้มากขึ้น ญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ และมีบทบาทสร้างสรรค์ในเรื่องนี้ ไทยชื่นชมญี่ปุ่นโดยเฉพาะความริเริ่มของญี่ปุ่นในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 3 ณ เมืองเซนไดในปีหน้า
ที่ผ่านมา ไทยก็มีบทบาทเช่นกัน ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีแห่งเอเชียว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 6 ที่กรุงเทพฯ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมที่เซนได นอกจากนี้ไทยสนับสนุนความร่วมมือระหว่างศูนย์จัดการภัยพิบัติของญี่ปุ่นและศูนย์จัดการภัยพิบัติแห่งเอเชียในไทย และยินดีเป็นเจ้าภาพร่วมกับญี่ปุ่นจัดการประชุม Green Mekong Forum ครั้งที่ 3 ที่กรุงเทพฯ ในเดือนธันวาคม 2557 เพื่อสนับสนุนข้อริเริ่มสู่ทศวรรษแห่งแม่โขงเขียวขจี
ประการที่สาม การพัฒนาที่ยั่งยืนต้องลดความเหลี่ยมล้ำ เราจึงต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตร ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและรายได้ที่สำคัญของประชากรลุ่มน้ำโขง โดยส่งเสริมความร่วมมือเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร การดูแลรายได้เพื่อให้เกิดเสถียรภาพ ส่งเสริมความมั่นคงของอาชีพและสนันสนุนความร่วมมือการค้นคว้าวิจัยและการฝึกอบรม โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาลู่ทางความร่วมมือระหว่างประเทศผู้ผลิตในภูมิภาคเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรหลักๆ ด้วย
"นายกรัฐมนตรีแสดงความเชื่อมั่นว่า คุณูปการของความร่วมมือในกรอบนี้ จะช่วยเสริมสร้างมิตรภาพและการเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น สนับสนุนการเป็นประชาคมอาเซียน และการที่ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างผาสุข" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว