ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สินยังมีผลกระทบต่อภาวะการครองชีพในยามที่รายได้ของครัวเรือนในหลายๆ ส่วน (โดยเฉพาะครัวเรือนในภาคเกษตร และครัวเรือนที่ไม่ได้มีรายได้ประจำ) ยังคงไม่สามารถฟื้นตัวขึ้น เนื่องจากกระแสรายรับมีความอ่อนไหวไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งก็คงต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ค่อนข้างทรงตัวในปัจจุบัน(สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ชะลอลงต่อเนื่องมาที่ระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปีที่ร้อยละ 1.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) ช่วยทำให้องค์ประกอบด้านสถานการณ์ราคาสินค้ายืนระดับใกล้เคียงกับในเดือนก่อนหน้า
สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ลดลงมาที่ 46.4 จากระดับ 47.1 ในเดือนก่อน นำโดย องค์ประกอบด้านภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่รวมหนี้สิน ภาระหนี้ และราคาสินค้า-บริการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ซึ่งผู้บริโภคมองว่าอาจมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในระยะข้างหน้า แต่กระนั้นมุมมองที่ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองต่อการมีงานทำ และค่าตอบแทนในการทำงานก็อาจสะท้อนว่าบรรยากาศการใช้จ่ายของครัวเรือนในภาพรวม น่าจะยังคงกลับมาทยอยปรับตัวดีขึ้นได้ในช่วงหลังจากนี้
"ดัชนี KR-ECI และดัชนีคาดการณ์ในระยะ 3 เดือนข้างหน้า กลับมาปรับตัวลงเล็กน้อย ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า ภาวะการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนยังคงไม่ฟื้นตัวกลับมาอย่างเต็มที่ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวมที่ยังคงอ่อนไหว หลังจากย่างก้าวเข้าสู่ช่วงแรกเริ่มของการฟื้นตัว" เอกสารเผยแพร่ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ว่า จากดัชนีดังกล่วสะท้อนว่าภาคครัวเรือนยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อภาวะการครองชีพ โดยแม้ว่าสถานการณ์ราคาสินค้าในปัจจุบันจะค่อนข้างทรงตัว แต่ทิศทางราคาพลังงาน สาธารณูปโภค และราคาสินค้าในชีวิตประจำวันที่อาจจะขยับขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ก็ยังมีผลกระทบต่อการตัดสินใจในการจับจ่ายใช้สอยเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนในหลายๆ ส่วน
อย่างไรก็ดี มุมมองที่ดีขึ้นต่อสถานการณ์รายได้ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (ภายหลังจากภาครัฐเริ่มผลักดันมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจ และดูแลปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ) อาจเป็นสัญญาณเชิงบวกที่สะท้อนว่าแรงขับเคลื่อนในประเทศน่าจะเริ่มทยอยมีบทบาทมากขึ้นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลังจากนี้ และต่อเนื่องในช่วงปีข้างหน้า