"โสภณ"ชี้อสังหาฯปี58 ดีกว่าปีนี้หลังหมดปัจจัยการเมือง แต่แนะระวังลงทุนเหตุปัจจัยเสี่ยงยังไม่หมด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 14, 2014 14:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 มีการเปิดตัวโครงการใหม่ถึง 272 โครงการ เฉลี่ยเดือนละ 34 โครงการ รวม 77,626 หน่วย มูลค่า 235,515 ล้านบาท หรือเฉลี่ยหน่วยละ 3.034 ล้านบาท หากประมาณการทั้งปี 2557 น่าจะมีหน่วยขายเปิดใหม่ 105,571 หน่วย รวมมูลค่า 320,300 ล้านบาท หรือหน่วยละ 3.028 ล้านบาท

เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่มีหน่วยเปิดใหม่ 131,645 หน่วย ที่มูลค่า 385,447 ล้านบาท จะพบว่าในปี 2557 ทั้งปีนี้จะมีหน่วยขายเปิดลดลงประมาณ 20% และมูลค่าการพัฒนาลดลงประมาณ 17% ซึ่งถือว่าดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ณ กลางปี 2557 ที่คาดว่าตลอดปี 2557 นี้หน่วยขายเปิดใหม่จะลดลงประมาณ 24% และมูลค่าการพัฒนาลดลงประมาณ 28% แสดงว่าสถานการณ์หลังความวุ่นวายทางการเมืองในครึ่งหลังปี 2557 ดีชึ้นกว่าครึ่งปีแรก

ส่วนที่มีการระบุว่า ในปีหน้าจะเป็นปีทองของอสังหาริมทรัพย์ที่จะเติบโตดีที่สุดในรอบ 16-20 ปี โดยมีปัจจัยบวกมาจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่คาดว่าจะแล้วเสร็จปีหน้าหลายสาย ทำให้กำลังซื้อของประชาชนสูงขึ้น และการเปิดเออีซีนั้น มีข้อเห็นแย้ง คือ 1.ที่ว่ารถไฟฟ้าที่จะเสร็จในปี 2558 นั้น อาจยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากความล่าช้าหรือแม้สร้างเสร็จแล้ว ที่ผ่านมาก็เปิดวิ่งไม่ได้ ทำให้ไม่เกิดผลชัดเจน 2.การเสร็จของรถไฟฟ้า ไม่ได้ทำให้กำลังซื้อของประชาชนสูงขึ้นแต่อย่างใด 3.การเปิดเออีซีก็จะเริ่มในปี 2559 ไม่ได้ส่งผลในช่วงปี 2558 แต่อย่างใด

"อสังหาริมทรัพย์ปี 2558 น่าจะดีกว่าปี 2557 เพราะหมดปัจจัยทางการเมือง อาจกล่าวได้ว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมาทำลายเศรษฐกิจย่อยยับไปถึง 420,000 ล้านบาท" นายโสภณ ระบุ

ทั้งนี้ คำนวณจากว่ารายได้ประชาชาติของไทยเท่ากับ 12 ล้านล้านบาท ในปี 2557 ซึ่งควรจะเติบโตราว 5% เช่นเดียวกับประเทศอื่นในอาเซียน แต่กลับลดลงเหลือ 1.5% เพราะการที่ประเทศไทยเราไม่อาจรอมชอมกันได้ ไม่สามารถตกลงในแนวทางสันติวิธีด้วยการเลือกตั้งได้เช่นทั่วโลก และมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยไร้ขื่อแปยาวนานถึง 8 เดือน ดังนั้นเศรษฐกิจจึงทรุด การทรุดลงไปถึง 3.5% (5% ที่คาดหวัง ลบด้วย 1.5% ที่ประมาณการสำหรับปีนี้) ของ 12 ล้านล้านบาท จึงเท่ากับเงินหายไปจากระบบประมาณ 420,000 ล้านบาท ทำให้กำลังซื้อหดตัวลง ข้อดีคือไม่เกิดฟองสบู่ ส่วนข้อเสียคือกำลังซื้อฝืดลง การวางแผนทางการเงินและการขายของผู้ประกอบการพัฒนาที่ดินต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะมีความเสี่ยงในการขายช้าลงกว่าแต่กว่า

อาจกล่าวได้ว่าในปี 2558 แม้น่าจะเติบโตกว่าปี 2557 แต่ก็ยังไม่เกิดฟองสบู่ แต่มีข้อเตือนภัยสำคัญ คือ 1. การประกาศกฎอัยการศึก ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเข้ามาประเทศไทยน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด แม้จะมีบางฝ่ายอ้างว่าการมีกฎอัยการศึก ทำให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น แต่ก็อาจไม่จริง ยังมีการข่มขืน ภาคใต้ประกาศกฎอัยการศึกมานาน ก็ยังไม่สงบ ที่สำคัญนักท่องเที่ยวย่อมตระหนักดีว่า หากประเทศสงบจริง จะคงกฎอัยการศึกไว้ทำไม ด้วยกฎอัยการศึกนี้จึงทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในรอบ 8 เดือนแรกของปี 2557 ลดลงถึง 16% หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป จำนวนนักท่องเที่ยวคงหายไป 4 ล้านคน และในความเป็นจริงควรเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2 ล้านคน ดังนั้นก็เท่ากับนักท่องเที่ยวหายไป 6 ล้านคน ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวหดตัวเป็นอย่างหนัก โดยคนหนึ่งใช้เงินเพื่อการท่องเที่ยว 40,000 บาท ก็เท่ากับเงินหายไป 240,000 ล้านบาท

2. หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้โอกาสการลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์จะลดลง กำลังซื้อที่คาดว่าจะมีก็อาจ "เหือดหาย" ไปในปี 2558 ก็ได้ บริษัทพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ที่คาดการณ์ว่าจะเปิดตัวโครงการมากมายในปี 2558 อาจ "ผิดแผน" และต้องปรับตัวใหม่ก็ได้

3. การส่งออกคงไม่เจริญเติบโต ทำให้เศรษฐกิจไม่มีเงินหมุนเวียนจากต่างประเทศ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะยิ่งหดตัวลง ประเทศจะเจริญได้ต้องอาศัยการส่งออก ไม่ใช่อาศัยนโยบาย "อัฐยายซื้อขนมยาย" อย่างเด็ดขาด การส่งเสริมการใช้จ่ายภายในประเทศเป็นเพียงนโยบายชั่วคราวแบบ "ไฟไหม้ฟาง"

4. การอำนวยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ซึ่งในปัจจุบันแข่งขันกันปล่อยกู้กันอย่างมาก สถาบันการเงินหลายแห่งให้กู้สูงถึง 100% หรือ 110% ของมูลค่าตลาด ซึ่งหากเกิดวิกฤติเงินฝืดขึ้นมา ก็อาจทำให้สถาบันการเงินล้มลงเช่นในยุคก่อนได้

5. ยิ่งกว่านั้นหากเกิดความไม่สงบรอบใหม่เพราะรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างได้ผลชะงัด จริงตามที่อาสามาทำงาน ก็จะทำให้เกิดความไม่มั่นคงและความเปราะบางทางเศรษฐกิจ การวางแผนการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการวางแผนการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย การลงทุนจึงต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษ

นายโสภณ กล่าวว่าถึงสถานการณ์สินเชื่อที่อยู่อาศัยและแนวโน้ม พบว่าในรอบ 20 ปี สินเชื่อที่อยู่อาศัยทั่วไปคงเหลือมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง20ปี (2537-2556) สินเชื่อที่อยู่อาศัยทั่วไปคงเหลือของสถาบันการเงินทั้งระบบมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยในปี 2537 มีจำนวนกว่า 4.4 แสนล้านบาทในปี 2547 เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อมาในปี 2554 ได้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2 ล้านล้านบาท และในปี 2556 มีจำนวนกว่า 2.5 ล้านล้านบาท

สินเชื่อที่อยู่อาศัยทั่วไปคงเหลือ ณ ไตรมาส 2 ปี 2557 มีจำนวนกว่า 2.6ล้านล้านบาท ณ ไตรมาส 2 ของปี 2557 สินเชื่อที่อยู่อาศัยทั่วไปคงเหลือของสถาบันการเงินทั้งระบบมีจำนวนทั้งสิ้น 2,675,537 ล้านบาทในจำนวนนี้เป็นของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจำนวน 1,579,602 ล้านบาทในขณะที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์มีจำนวน 753,202ล้าบาท

สำหรับภาพรวมสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั่วไปปล่อยใหม่ในรอบ 20 ปี สถาบันการเงินทั้งระบบปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่กว่า 3.6 ล้านล้านบาท ในช่วง 20 ปี (2537-2556) สถาบันการเงินทั้งระบบได้มีการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั่วไปปล่อยใหม่จำนวนกว่า 3.6 ล้านล้านบาทโดยในช่วงปี 2538-2551 มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั่วไปปล่อยใหม่เฉลี่ยกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปีจนกระทั่งในปี 2552-2554 ได้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี ปี 2555 ได้เพิ่มเป็นกว่า 4 แสนล้านบาท และในปี 2556 ได้เพิ่มขึ้นทะลุกว่า5แสนล้านบาทซึ่งถือว่ามีการขยายตัวที่สูงเป็นประวัติการณ์

สินเชื่อที่อยู่อาศัยทั่วไปปล่อยใหม่ครึ่งแรกปี 2557 มีจำนวนกว่า 2.6 แสนล้านบาท คาดทั้งปีมีจำนวนกว่า 5 แสนล้านบาท ในครึ่งแรกของปี 2557 สถาบันการเงินทั้งระบบได้มีการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่จำนวน 260,494 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2556 ซึ่งมีจำนวน 248,962 ล้านบาทร้อยละ 4.6 ในจำนวนนี้เป็นของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งจำนวน 151,684 ล้านบาท ในขณะที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์สามารถปล่อยได้จำนวน 65,589 ล้านบาท สำหรับในปี 2557 ทั้งปีคาดว่าสถาบันการเงินทั้งระบบจะสามารถปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ได้จำนวนกว่า 5 แสนล้านบาทใกล้เคียงกับปี 2556

สำหรับด้านกลยุทธ์นั้น กลยุทธ์การตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยปี 2557 ธนาคารเกือบทุกแห่ง ยังคงเข้ามาแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะแต่ละสถาบันการเงินต้องการเร่งยอดปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้ได้ตามเป้าหมาย หลังจากในไตรมาสแรกได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมือง โดยมีการปรับกลยุทธ์หันไปขยายตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่แถวภาคอีสานตามหัวเมืองขนาดใหญ่ โดยใช้กลยุทธ์ทำการตลาดและเสนอโปรโมชั่น ร่วมกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ เน้นขยายฐานกลุ่มข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงกลุ่มพนักงานของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเงินเดือนผ่านธนาคาร เพื่อต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทอื่นๆ โดยเสนอขายแบบไขว้ผลิตภัณฑ์(Cross Sale)มากขึ้น ทั้งสินเชื่อบ้าน สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อรถยนต์ เป็นต้น และมุ่งปรับปรุงระบบการอนุมัติสินเชื่อให้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมีแคมเปญโปรโมชั่นสินเชื่อบ้านอัตราดอกเบี้ย 0% ตามงานมหกรรมต่างๆ ด้วย

"การแข่งขันที่เดือดหนักเช่นนี้จะสร้างความเปราะบางแก่ระบบเศรษฐกิจเช่นกัน ทั้งนี้ในขณะนี้การอำนวยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ในปัจจุบันแข่งขันกันปล่อยกู้กันอย่างมาก สถาบันการเงินหลายแห่งให้กู้สูงถึง 100% หรือ 110% ของมูลค่าตลาด ซึ่งหากเกิดวิกฤติเงินฝืดขึ้นมาก็อาจทำให้สถาบันการเงินล้มลงเช่นในยุคก่อนได้ ผู้จะซื้อบ้าน นักลงทุน สถาบันการเงิน ตลอดจนธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาลจึงต้องพยายามประคับประคอบระบบสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้ดีเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป" นายโสภณ ระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ