พาณิชย์ ปัดข่าวลักไก่ชงแก้ไขร่างพ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าคุ้มครองกลิ่น-เสียงเข้าครม. ยันทำตามขั้นตอน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 14, 2014 17:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวถึงการเสนอร่าง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่...) พ.ศ.... เพื่อขยายความคุ้มครองไปยังเครื่องหมายการค้าที่เป็นกลิ่นและเสียง และการลดระยะเวลาและปรับปรุงขั้นตอนการจดทะเบียน ให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติเมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า เป็นไปตามขั้นตอน โดยการแก้ไขพ.ร.บ.ดังกล่าว กรมฯดำเนินการมาตั้งแต่ปี 49 แล้ว และต่อมามีการยุบสภา ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจึงตกไป

"กรมฯ ไม่ได้ลักไก่เสนอให้ ครม.พิจารณาอย่างที่ถูกกล่าวหา เพราะการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว กรมฯดำเนินการมาตั้งแต่ปี 49 แล้ว และต่อมามีการยุบสภา ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจึงตกไป" อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าว

นอกจากนี้ ในปี 55 กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.อีกหนึ่งฉบับเกี่ยวกับการเข้าเป็นภาคีพิธีสารมาดริด ซึ่งเมื่อมีรัฐบาลใหม่ กรมฯจึงเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. และมีมติเมื่อวันที่ 12 พ.ย.57 ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมกับกรมฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณารวมร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับเป็นฉบับเดียว เพราะมีบางมาตราซ้ำซ้อนกัน ขณะเดียวกันกรณีที่มีหลายฝ่าย โดยเฉพาะองค์กรภาคประชาชน(เอ็นจีโอ) ไม่เห็นด้วยกับการขยายขอบเขตเครื่องหมายการค้าไปยังกลิ่นและเสียง ก็จะถือโอกาสพิจารณาร่วมกับกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทบทวนใหม่ ทั้งๆ ที่ในตอนที่ยกร่างกฎหมายนี้ไม่มีใครคัดค้าน คาดน่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้

"การขยายขอบเขตการให้ความคุ้มครองเครื่องหมายการค้ากลิ่นและเสียง เป็นการสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยนำกลิ่นและเสียง ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าที่ใช้ในต่างประเทศมาใช้กับสินค้าของตน เป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการตลาด การแข่งขันทางการค้า และแสดงถึงความก้าวหน้าในกฎหมายดังกล่าวของไทย ปัจจุบัน หลายประเทศใช้กันแล้ว เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ส่วนการลดระยะเวลาจดทะเบียน ก็สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ในการลดขั้นตอนการให้บริการประชาชน" นางมาลี กล่าว

ขณะเดียวกันกรณีดังกล่าวไม่ได้เกิดผลกระทบต่อยาของไทยตามที่เอ็นจีโอกล่าวหาว่าจะทำให้ต่างประเทศเอากลิ่นพืชสมุนไพรไทยมาสังเคราะห์ให้เป็นกลิ่นใหม่แล้วนำมาจดเครื่องหมายการค้าในไทย ได้รับความคุ้มครองในไทย และทำให้เจ้าของสินค้าไทย โดยเฉพาะยา ที่มีกลิ่นใกล้เคียงกัน ไม่สามารถใช้กลิ่นนั้นๆ ได้ กรณีดังกล่าวไม่ใช่เป็นการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ากลิ่น แต่เป็นการจดทะเบียนสิทธิบัตร แต่ต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่า กลิ่นที่สังเคราะห์ใหม่มีการใช้นวัตกรรมใหม่ เพื่อทำให้ได้กลิ่นใหม่จริง จึงจะสามารถให้จดสิทธิบัตรได้

สำหรับการพิจารณาให้จดเครื่องหมายการค้ากลิ่นและเสียงนั้นจะไม่อนุญาตให้นำกลิ่น หรือเสียงที่บ่งบอกถึงลักษณะของสินค้า หรือกลิ่นในธรรมชาติมาใช้จดเครื่องหมายการค้า เช่น กลิ่นกาแฟ จะใช้จดเป็นเครื่องหมายการค้าสินค้ากาแฟ หรือร้านกาแฟไม่ได้ เพราะกลิ่นกาแฟเป็นกลิ่นทั่วไปที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ, กลิ่นตะไคร้หอม จะใช้จดเครื่องหมายการค้ายากันยุงไม่ได้ หรือกลิ่นมะนาว จะใช้จดเครื่องหมายการค้าน้ำยาล้างจานไม่ได้ เป็นต้น แต่กลิ่นที่จะให้จดได้ต้องไม่บ่งบอกถึงคุณลักษณะของสินค้าเลย เช่น กลิ่นกุหลาบ กับสินค้ายางรถยนต์ เป็นต้น

ส่วนเสียงที่จะจดเป็นเครื่องหมาย เช่น เสียงไอศกรีมวอลล์ เสียงสิงโตคำรามของบริษัทผลิตภาพยนตร์ในฮอลลีวู้ดที่จดไปแล้วในสหรัฐฯ หรืออย่างจิงเกิ้ลเข้ารายการต่างๆ ถ้าไม่มีกฎหมายคุ้มครอง เสียงเหล่านี้อาจถูกคนอื่นเอาไปใช้ เจ้าของจะเอาผิดก็ไม่ได้ แต่ถ้ามีกฎหมาย คนละเมิดจะมีความผิดตามกฎหมาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ