นิด้าโพลเผยคนส่วนใหญ่เห็นด้วยเก็บภาษีมรดก เชื่อลดเหลื่อมล้ำคนรวย-คนจน

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday November 16, 2014 10:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ร่างกฎหมายภาษีมรดก" โดยเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อข้อเสนอภาษีมรดกที่จะมีการเก็บภาษีในอัตรา 10% จากทรัพย์สินส่วนที่เกินกว่า 50 ล้านบาท พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.58 ระบุว่าเป็นอัตราภาษีที่เหมาะสม ร้อยละ 9.05 ระบุว่าเป็นอัตราภาษีที่มากเกินไป ร้อยละ 6.41 ระบุว่าเป็นอัตราภาษีที่น้อยเกินไป

ขณะที่ ร้อยละ 13.20 ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีมรดก ร้อยละ 0.16 ระบุว่ามีควรเก็บภาษีเป็นอัตราก้าวหน้าหรือเก็บเฉพาะทรัพย์สินส่วนเกินกว่า 100 ล้านบาท ขึ้นไป และร้อยละ 1.60 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการยกเว้นการเก็บภาษีมรดกให้กับคู่สมรส พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.04 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน สามี ภรรยาถือเป็นคนๆ เดียวกัน ร้อยละ 42.92 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการไม่ยุติธรรม ควรเก็บภาษีทุกคนทั้งสามีและภรรยา กลัวเป็นช่องทางการหลีกเลี่ยงภาษี เกิดการทุจริตได้ เกิดการถ่ายโอนมรดกให้กัน และร้อยละ 3.04 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อข้อเสนอการแก้กฎหมายประมวลรัษฎากรการให้ทรัพย์สินแก่บุตร หลาน (กรณียังมีชีวิตอยู่) จากเดิมไม่กำหนดให้มีการเสียภาษี เป็นการเก็บภาษีในอัตรา 5 % จากทรัพย์สินส่วนที่เกินกว่า 10 ล้านบาทต่อปี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 54.84 ระบุว่า เป็นอัตราภาษีที่เหมาะสม ร้อยละ 8.33 ระบุว่าเป็นอัตราภาษีที่มากเกินไป ร้อยละ 3.76 ระบุว่าเป็นอัตราภาษีที่น้อยเกินไป ขณะที่ร้อยละ 32.03 ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีมรดก ร้อยละ 0.08 ระบุว่าควรเก็บเท่ากันกับภาษีมรดก และร้อยละ 0.96 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ

เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนว่าการเก็บภาษีมรดกจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.09 ระบุว่า จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ เพราะเป็นการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ทำให้เกิดการเอาเปรียบกันในสังคมลดลง นำเงินที่ได้จากการเก็บภาษีนั้นมาพัฒนาประเทศ เพิ่มสวัสดิการต่างๆ เกิดความเท่าเทียมกัน ส่วนร้อยละ 43.31 ระบุว่าไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ เพราะมีความแตกต่างกันอยู่แล้วในสังคม ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องความเหลื่อมล้ำ คนรวยก็มีช่องทางอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอยู่ดี และการบังคับใช้กฎหมายยังไม่เข้มงวด และร้อยละ 1.60 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ

อนึ่ง ผลสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน มากกว่า 30,001 บาทขึ้นไป กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,249 หน่วยตัวอย่าง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ