(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์ คาด GDP ปี 58 โต 3.5-4.5% จาก 1% ปีนี้หลังส่งออกฟื้นชัด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 17, 2014 12:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)หรือสภาพัฒน์ คาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 58 ขยายตัวราว 3.5-4.5% จากปีนี้ที่เติบโตเพียง 1% โดยปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลักดันเศรษฐกิจในปีหน้าคือ การส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากปีนี้คาดว่าจะไม่เติบโต รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของการท่องเที่ยว การลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะโครงการที่ได้รับการส่งเสริมกามรลงทุนในปีนี้จะเริ่มดำเนินการ การเร่งใช้จ่ายและดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐ การเริ่มกลับมาขยายตัวของการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ การลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ช่วยเพิ่มอำนาจซื้อ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ในฐานะเลขาธิการ สศช. ระบุว่า ในปี 58 คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 4.0% เทียบกับ 0% ในปี 57 ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเมื่อรวมกับการส่งออกบริการที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้ว จะทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัว 4.4% ดีขึ้นจากการหดตัว 0.3% ในปี 57

ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 4.8% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและนักลงทุนตามทิศทางเศรษฐกิจและสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ ความชัดเจนของโครงการลงทุนภาครัฐ และผลจากการเร่งรัดอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปี 57 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินโครงการในปี 58 ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 9.8% ดีขึ้นจากปี 57 เนื่องจากการเร่งรัดงบประมาณรายจ่ายลงทุน และการดำเนินการโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง

ส่วนการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัว 2.6% ดีขึ้นจากปี 57 ตามปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่เข้าสู่ภาวะปกติ และคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวในปี 58 นอกจากนี้ยังมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ คือ อัตราเงินเฟ้อที่ยังต่ำเนื่องจากราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง รายได้ครัวเรือนที่ขยายตัวขึ้นอย่างช้าๆ เป็นผลจากการปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ

อย่างไรก็ดี จากการประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 58 ไว้ที่ 3.5-4.5% นั้น ได้รวมปัจจัยเรื่องการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการไว้แล้ว ซึ่งคาดว่าเริ่มปรับขึ้นตั้งแต่ เม.ย.58 เป็นไป

"กรณีของ GDP ปี 58 ที่ทางสภาพัฒน์คาดว่าจะโตได้ 3.5-4.5% นั้น เราได้รวมปัจจัยเรื่องการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการไว้แล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีผลตั้งแต่เม.ย.58 รวมถึงปัจจัยเรื่องค่าครองชีพ ที่น่าจะมีผลตั้งแต่ม.ค.58 แต่ทั้งนี้คงต้องรอความชัดเจนจากมติ ครม.ก่อนว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจเท่าไร" นายอาคมกล่าว

อย่างไรก็ดี ในปี 58 ยังมีปัจจัยที่อาจจะเป็นข้อจำกัดอยู่ 3-4 ประการ คือ เรื่องแรก ภาคส่งออก ซึ่งปีนี้ผู้ส่งออกได้ประโยชน์จากที่บาทอ่อนค่าลง แต่ทั้งนี้คงต้องพิจารณาเรื่องโครงสร้างราคาด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่งในสินค้าประเภทเดียวกัน เพราะคู่แข่งผลิตได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่า ดังนั้นจะต้องมีนวัตกรรมในการผลิตสินค้าส่งออกกลุ่มใหม่ๆ ให้มากขึ้น เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเกษตรปลอดสารพิษ ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สินค้าในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์

2.การลงทุน ขณะนี้มีการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนที่ค้างอยู่ ซึ่งผลการเร่งรัดจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ซึ่ง จะทำให้เกิดความมั่นใจในการลงทุนในประเทศต่อไป 3.รายได้ภาคเกษตร คาดว่าในปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าภาวะภัยแล้งจะสร้างปัญหาเรื่องผลผลิต และ 4.ความไม่แน่นอนเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนและเงินทุนเคลื่อนย้าย จากที่คาดว่าสหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ยราวกลางปี 58 ซึ่งเมื่อมีข่าวนี้ออกมานักลงทุนก็เริ่มรับข่าว แต่ก็จะมีทั้งเงินทุนไหลเข้าและไหลออกซึ่งต้องคอยติดตาม

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันควรจะต้องปรับลดลงเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจหรือไม่นั้น นายอาคม กล่าวเพียงว่า วันนี้สัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเริ่มชัดเจนขึ้น ซึ่งดูได้จาก GDP ไตรมาส 3/57 ขยายตัว 0.6% ซึ่งดีขึ้นจากไตรมาส 2/57 ที่ขยายตัว 0.4% แต่อย่างไรก็ดียังเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งเราต้องการความมั่นใจเพื่อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ตามศักยภาพที่แท้จริง

"เราอยากเห็นเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในภาวะปกติ ที่บอกว่าปีหน้า 3.5-4.5% นั้น ศักยภาพของประเทศไทยจริงๆ แล้วอยู่ที่ 5-6% จึงถือว่าปกติ ดังนั้นปีหน้าที่เราคาดการณ์ไว้ก็ยังต่ำกว่าศักยภาพของไทย ดังนั้นเราจึงอยากจะเห็นนโยบายด้านการคลังที่ทำอยู่แล้ว และนโยบายทางการเงินที่คอยสนับสนุนและดูแลเรื่องค่าเงินบาท เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศของเราเป็นหลัก" นายอาคม กล่าว

ส่วนกรณีหนี้ที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าวในช่วงที่ผ่านมานั้น นายอาคม กล่าวว่า ตามแผนงานของรัฐบาลก่อน ได้มีการตั้งชำระเงินจากงบประมาณไว้แล้วส่วนหนึ่ง แต่ทั้งนี้ยอดขาดทุนที่ค่อนข้างสูงตามที่มีการรายงานการปิดบัญชีไว้ที่ 6.8 แสนล้านบาทนั้น ก็จะเป็นภาระการชำระหนี้ที่ยาวนานขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้สินค้าเกษตรในตลาดโลกราคาไม่สูง เพราะเศรษฐกิจโลกไม่ได้ฟื้นตัวอย่างที่คาดไว้ ขณะที่สินค้าเกษตรในประเทศรอบๆ บ้านเริ่มมีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้น ดังนั้นราคาสินค้าเกษตรปีนี้และปีหน้าอาจจะยังไม่สูงมาก จึงส่งผลให้ภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าวในช่วงที่ผ่านมาอาจจะต้องใช้ระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปนานขึ้น

สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 57 นี้ สภาพัฒน์ คาดว่าจะขยายตัวได้ 1% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 1.5-2.0% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/57 ขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ เป็นผลมาจากปัจจัยสำคัญ 4 ประการ คือ 1.เศรษฐกิจโลกไตรมาส 3 ขยายตัวต่ำกว่าไตรมาส 2 โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐและจีน ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นและยุโรปอยู่ในภาวะอ่อนแอ ประกอบกับราคาส่งออกสินค้าเกษตรลดลงมาก ทำให้มูลค่าการส่งออกกลับมาหดตัวอีกครั้งหลังจากที่เริ่มขยายตัวในไตรมาสที่ 2

2.ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ยังหดตัวต่อเนื่อง 41.9% โดยหดตัวมากกว่าที่คาดไว้ และส่งผลให้ปริมาณการผลิตรถยนต์ต่ำกว่าที่ประมาณการ 3.การเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ 57 อยู่ที่ 20.8% ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 25% และอัตราเบิกจ่ายรวมทั้งปีงบประมาณอยู่ที่ 89% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 95% และ 4.การท่องเที่ยวยังฟื้นตัวได้ช้า โดยจำนวนนักท่องเที่ยวไตรมาส 3 ลดลงมากกว่าที่คาดไว้

อย่างไรก็ดี การที่จะให้ GDP ในปี 57 เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ 1% นั้น GDP ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะต้องขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 1% ซึ่งสภาพัฒน์ยังมีความหวังกับภาคการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้

เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า สำหรับการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ และปี 58 ว่า ควรให้ความสำคัญกับ 8 เรื่องสำคัญ ประกอบด้วย 1.การดูแลเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย 2.การจัดทำมาตรการเพื่อดูแลแรงงานผู้มีรายได้น้อย แรงงานที่จำนวนชั่วโมงการทำงานน้อยลง แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง และผู้ว่างงาน โดยส่งเสริมการอบรมพัฒนาทักษะ และเพิ่มศักยภาพของแรงงานเพื่อก่อให้เกิดอาชีพเสริมหรือทางเลือก 3.การส่งเสริมการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพและลดอุปสรรคทางการค้า 4.การเร่งรัดและติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการช่วยเหลือและสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว และดำเนินมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้การท่องเที่ยวได้ฟื้นต่อเนื่อง

5.การเร่งรัดการพิจารณาอนุมัติโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน และติดตามให้โครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนแล้ว ดำเนินการลงทุนโดยเร็ว 6.การเร่งรัดปรับโครงสร้างของราคาพลังงาน เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากการลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในการเพิ่มอำนาจซื้อของประชาชน ลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ และสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น และ 8. การเร่งรัด ติดตาม ประเมินผลการใช้จ่ายภาครัฐและดำเนินโครงการ/แผนงานสำคัญตามแผนปฏิบัติการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ