SCB EIC คาด GDP ปี 57 ต่ำกว่า 1.6% หลัง 9 เดือนโต 0.2%-มองลดดบ.ไม่ช่วยกระตุ้นศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 17, 2014 17:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) คาดเศรษฐกิจไทยในปี 57 น่าจะขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ค่อนข้างมาก เนื่องจากในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียง 0.2%YOY ดังนั้นเศรษฐกิจไทยทั้งปี 57 น่าจะขยายตัวต่ำกว่าที่ SCB EIC เคยประมาณการไว้เดิมที่ 1.6%

วันนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) รายงานตัวเลข GDP ของไทยในไตรมาส 3 ปี 2014 ขยายตัว 0.6%YOY (เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า) จากที่ขยายตัว 0.4%YOY ในไตรมาสก่อน โดยการใช้จ่ายของภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นทั้งการบริโภคและการลงทุน การบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 2.2%YOY ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 0.2%YOY โดยการใช้จ่ายซื้อสินค้าไม่คงทนอย่างเช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ไฟฟ้าและประปา ขยายตัวได้ 2.8%YOY ขณะที่การใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ ยังคงหดตัว 13.6%YOY แต่ก็ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ฟื้นตัวในไตรมาสนี้ สอดคล้องกับดัชนีชี้วัดการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 3 ไม่ว่าจะเป็น การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น

ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ถึง 3.9%YOY สูงกว่าที่คาด จากหดตัว 7.0%YOY ในไตรมาสก่อน โดยการลงทุนในด้านเครื่องมือเครื่องจักรที่มีสัดส่วนราว 80% ของการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้นถึง 6.4%YOY จากที่หดตัว 7.5%YOY ในไตรมาสก่อน ขณะที่การก่อสร้างยังหดตัว 3.6%YOY เนื่องจากการก่อสร้างอาคารพาณิชย์และอาคารโรงงานยังหดตัว อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างที่อยู่อาศัยยังขยายตัวได้ 1.0%YOY ทั้งนี้การลงทุนภาคเอกชนในไตรมาส 3 ขยายตัวได้เหนือความคาดหมาย เนื่องจากตัวชี้วัดทางด้านการลงทุนภาคเอกชนในช่วงก่อนหน้านี้ยังไม่ได้สะท้อนการเติบโตของการลงทุนภาคเอกชนมากนัก

การใช้จ่ายภาครัฐต่ำกว่าที่คาด โดยการบริโภคภาครัฐขยายตัวเพียง 0.4%YOY ขณะที่การลงทุนภาครัฐหดตัว 0.8%YOY ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนก่อสร้างที่หดตัว 1.9%YOY ทั้งการก่อสร้างของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ขณะที่การลงทุนด้านเครื่องมือเครื่องจักรยังสามารถขยายตัวได้ 2.1%YOY เนื่องจากมีการนำเข้าเครื่องบินเชิงพาณิชย์จำนวน 2 ลำ แต่การลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจหดตัว 12.0%YOY

การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิหดตัวสูงถึง 15.4%YOY เนื่องจากการส่งออกภาคบริการที่หดตัวถึง 12.4%YOY ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงส่งผลให้รายรับจากค่าบริการท่องเที่ยวลดลง ประกอบกับการส่งออกสินค้ายังคงหดตัว 1.4%YOY ทำให้การส่งออกสินค้าและบริการหดตัว 4.0%YOY ลดลงจากไตรมาสก่อนที่หดตัว 0.6%YOY ในขณะที่การนำเข้าสินค้าและบริการปรับตัวดีขึ้น โดยหดตัว 1.1%YOY จากไตรมาสก่อนที่หดตัว 9.0%YOY ซึ่งเป็นผลมาจากรายจ่ายด้านบริการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นจากการที่คนไทยเดินทางไปยังต่างประเทศ ทั้งนี้การส่งออกที่แย่ลงแต่การนำเข้าที่ดีขึ้นส่งผลให้การส่งออกสุทธิหดตัวค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม SCB EIC ระบุว่า เนื่องจากการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีกว่าที่คาด ลดโอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การลงทุนภาคเอกชนที่ฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้และการบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 3 สะท้อนให้เห็นว่าการใช้จ่ายของภาคเอกชนฟื้นตัวได้ดีหลังจากที่สถานการณ์การเมืองคลี่คลาย แต่เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ยังขยายตัวได้ไม่สูงนัก เนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐยังทำได้น้อยและการส่งออกสินค้าและบริการยังหดตัว ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงไม่มีผลในการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐและการส่งออกได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ