สำหรับจีดีพีไตรมาส 3/2557 ที่ขยายตัวน้อยกว่าที่คาด อาจทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 1.6 ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ไว้นั้น มองว่าอุปสงค์ภายในประเทศในไตรมาส 4/2557 อาจมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ชัดเจนกว่าไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่หากภาครัฐสามารถผลักดันนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญให้มีผลเป็นรูปธรรม รวมทั้งเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ก็อาจเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 ขยายตัวได้ใกล้เคียงกับตัวเลขคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.7 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งน่าจะสนับสนุนให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยตลอดทั้งปี 2557 ต่ำลงกว่าตัวเลขประมาณการไม่มากนัก
อนึ่ง หากการส่งออกและการท่องเที่ยวยังคงฟื้นตัวล่าช้าจนเพิ่มแรงฉุดรั้งต่อเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าแล้ว การเร่งส่งสัญญาณการกระตุ้นรอบใหม่ ซึ่งอาจจะมาจากทั้งมาตรการของภาครัฐ และจุดยืนนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของธนาคารแห่งประเทศไทย อาจกลายเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อประคองให้เศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่แนวโน้มการฟื้นตัวได้อีกครั้งในช่วงปีข้างหน้า
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจไทยมีโมเมนตัมฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้จะเป็นอัตราที่ค่อยเป็นค่อยไป โดยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ที่ปรับฤดูกาลประจำไตรมาส 3/2557 ขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 1.1 เท่ากับในไตรมาส 2/2557 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ สถานการณ์การเมืองในประเทศที่เริ่มทยอยกลับสู่ภาวะปกติ หนุนให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี แรงหนุนดังกล่าวก็ถูกดึงลงด้วยแรงฉุดรั้งจากมูลค่าการส่งออกสุทธิที่หดตัวลง ขณะที่เม็ดเงินใช้จ่ายของภาครัฐก็ล่าช้ากว่าเป้าหมายที่วางเอาไว้ค่อนข้างมากเช่นกัน
หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จีดีพีไทยขยายตัวเพียงร้อยละ 0.6 (YoY) ในไตรมาส 3/2557 เทียบกับร้อยละ 0.4 (YoY) ในไตรมาส 2/2557 โดยแรงหนุนจากการใช้จ่ายของภาคเอกชน ทั้งการบริโภคของครัวเรือน และการลงทุนของภาคธุรกิจ ขยายตัวได้ค่อนข้างดีที่ร้อยละ 2.2 (YoY) และร้อยละ 3.9 (YoY) ในไตรมาส 3/2557 จากที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 (YoY) และหดตัวร้อยละ 7.0 (YoY) ในไตรมาส 2/2557 ตามลำดับ ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของภาครัฐก็ขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.4 (YoY)
อย่างไรก็ดี ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวล่าช้า ก็ส่งผลทำให้ดุลบริการหดตัวลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน ที่ร้อยละ 27.3 (YoY) ซึ่งกดดันต่อเนื่องให้มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิในไตรมาส 3/2557 หดตัวลงถึงร้อยละ 15.4 (YoY) ซึ่งนับเป็นตัวเลขติดลบที่มากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2/2555 และเป็นภาพที่แย่ลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 50.7 (YoY) ในไตรมาส 2/2557 ที่ผ่านมา