"ยอมรับว่าเป้าหมายวันละ 1 พันสัญญา ได้มีการพูดถึงมานานมากแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากมีอุปสรรคสำคัญคือค่าธรรมเนียมในการเทรด เพราะที่ผ่านมาค่อนข้างสูง แต่เรามีแผนจะลดค่าธรรมเนียมในการเทรดลงประมาณ 5-10% เชื่อว่าจะจูงใจให้เกิดการเข้ามาลงทุนใน AFET มากขึ้น" นายวิวัฒน์ กล่าว
นายวิวัฒน์ กล่าวต่อว่า จากการก้าวขึ้นสู่ทศวรรษที่ 2 ของ AFET ได้ตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับ AFET ให้เป็นตลาดแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรล่วงหน้าระดับสากล และสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องทั้งรายได้ ฐานนักลงทุน และการนำสินค้าเข้าซื้อขายหรือการพัฒนาสินค้าให้ตอบสนองกับความต้องการของนักลงทุนยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ใน 1 ปีข้างหน้าจะเห็น AFET เปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันอย่างมาก เป้าหมายที่วางไว้คือเป็นองค์ที่มีผู้คนรู้จักของคนในวงการสินค้าเกษตร นักลงทุนไทย นักลงทุนต่างประเทศ ผู้ส่งออก และเกษตรกรซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของ AFET ที่จะเข้ามาประโยชน์ในการป้องกันความเสี่ยง เกษตรกรสามารถรู้ราคาล่วงหน้าเพื่อจะได้วางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับภาวะตลาดในปัจจุบัน และอนาคตเพื่อที่จะได้ไม่ประสบปัญหาซัพพลายล้นตลาดและส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ
นอกจากนี้ ต้องสร้างแรงจูงใจให้โบรกเกอร์ด้วยการยกเว้นค่าธรรมเนียมโบรกเกอร์ 2 ปี รวมทั้งจะปรับเวลาเปิดตลาดในการซื้อขายให้เร็วขึ้นเป็น 08:00 น. จากเดิม 10:00 น.เพื่อให้สอดคล้องกับเวลาซื้อขายของตลาดล่วงหน้าต่างประเทศ SICOM สิงคโปร์ และตลาด TOCOM ประเทศญี่ปุ่น จะทำให้นักลงทุนสามารถเก็งกำไรระหว่างตลาดต่างประเทศและตลาด AFET ได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณซื้อขายได้มากขึ้น
อีกทั้งมีแผนจะยกเลิกสินค้าที่ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น สับปะรด แต่เพิ่มสินค้าใหม่ที่มีศักยภาพ เช่น มันสำปะหลังเส้น แป้งมัน เอทานอล โดยในส่วนของมันสำปะหลังเส้นและแป้งมัน เป็นสินค้าที่เคยนำเข้ามาซื้อขายแต่ยังไม่ Active ก็นำมาปรับปรุงสัญญาซื้อขายให้น่าสนใจมากขึ้น ขณะที่เอทานอลนั้นมองว่า แนวโน้มการใช้น้ำมันจะเหลือแค่ 2 ชนิด คือ E20 และ E85 ความต้องการใช้เอทานอลน่าจะมีมาก ถ้ามีตลาดล่วงหน้าให้ผู้ขายผู้ซื้อ ผู้ค้าน้ำมันเข้ามาป้องกันความเสี่ยงน่าจะช่วยให้ตลาดAFET มีความน่าสนใจมากขึ้น
"มันเส้น แป้งมัน น่าจะได้เห็นปีหน้า ส่วนเอทานอลขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลด้วย แต่เมื่อไหร่รัฐบาลไฟเขียวผมเดินหน้าแผนงานได้เลย" นายวิวัฒน์ กล่าว
พร้อมระบุถึงสินค้าข้าวที่ไม่ประสบความสำเร็จในการนำเข้ามาซื้อขายใน AFET ว่า สินค้าที่มีสต็อกจำนวนมากหรือมีซัพพลายจำนวนมากขณะที่ดีมานด์เท่าเดิม กลไกของตลาดล่วงหน้าจะใช้ไม่ได้ผล นั่นคือสาเหตุที่ทำให้ไม่มีการซื้อขายสินค้าข้าวใน AFET
"ตลาดที่มีการแทรกแซงจะขาดความน่าเชื่อถือ นักลงทุนจะไม่เข้ามา ต้องเปิดโอกาสอิสระให้นักลงทุนต่างๆ ทั้งในประเทศ ต่างประเทศ รวมทั้งกองทุนต่างๆ ให้เข้ามาเทรด ให้มั่นใจว่ากลไกต่างๆเดินไปอย่างสมบูรณ์ เมื่อนั้นนักลงทุนจะเข้ามาหาเรา" นายวิวัฒน์ กล่าว
ขณะเดียวกันเรามีความมั่นใจระบบการซื้อขายของเราสามารถควบคุมการซื้อขายที่ผิดปกติหรือในกรณีพบการเก็งกำไรมากเกินไป
"เราจะทำทุกอย่างพร้อมๆกัน เพราะถ้าทำทีละอย่างเหมือนในอดีตไม่เวิร์ค ตัองทำทุกอย่างขนานกัน จึงมั่นใจว่า AFETในอนาคตจะเปลี่ยนไปจากปัจจุบันมาก"นายวิวัฒน์ กล่าว
สำหรับทิศทางหลักที่จะดำเนินการในช่วงทศวรรษที่ 2 นี้ ประกอบด้วย การปรับยุทธศาสตร์องค์กรใหม่ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้สามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ที่ AFET ได้ประสบในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยการพัฒนาบุคลากร ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุความสำเร็จ รวมถึงพัฒนากระบวนการทำงาน ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เพื่อเป็นการปรับตัวให้สามารถแข่งขันได้ในโลกธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการสร้างความเชื่อมั่นกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในกลุ่มเกษตรกร กลุ่มนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความไว้วางใจที่จะเข้ามาซื้อขายหรือประกันความเสี่ยง
นอกจากนี้ AFET จะเดินหน้าตามแผนธุรกิจ 5 ปี ภายใต้ "AFET VISION 2020" เพื่อยกระดับ AFET ให้เป็นตลาดล่วงหน้าระดับสากล โดยการปรับฐานธุรกิจใหม่ให้เอเฟทสามารถแข่งขันกับตลาดล่วงหน้าอื่นได้ เช่น การปรับปรุงระบบการซื้อขายให้สามารถใช้ Mobile Trading การปรับลดค่าธรรมเนียมซื้อขาย การสร้างบรรยากาศการแข่งขันระหว่างโบรกเกอร์ด้วย Reward Program การพิจารณากฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เอื้ออำนวยต่อการเข้ามาของผู้ประกันความเสี่ยงและนักลงทุนให้มากยิ่งขึ้น และการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าที่มีศักยภาพในระดับภูมิภาค เพื่อจูงใจนักลงทุนต่างชาติ
ทั้งนี้ แผนระยะยาว AFET จะเริ่มปรับมาตรฐานให้สามารถ Benchmark กับตลาดล่วงหน้าระดับโลกอย่าง CME (Chicago Mercantile Exchange) เพื่อให้อยู่ในระดับสากล และประกาศให้เอเฟทเป็น World Class Commodity Exchange ในปี 2020 ได้ในที่สุด