ทั้งนี้ เบื้องต้น สตง. พบว่า ฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะใช้เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวดังกล่าว เป็นฐานข้อมูลเดียวกันกับที่ใช้ในการดำเนินโครงการประกันรายได้ของเกษตรกรเมื่อปี 2554 ซึ่งมีส่วนหนึ่งไม่ถูกต้องและไม่เป็นปัจจุบัน เช่น เกษตรกรแจ้งพื้นที่เพาะปลูกมากกว่าที่เพาะปลูกจริง หรือเกษตรกรไม่มีพื้นที่เพาะปลูกจริงแต่แจ้งว่ามีพื้นที่เพาะปลูก และเกษตรกรมีที่ดินทำกินจำนวนมากเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดจึงแบ่งที่ดินของตนให้บุตรหรือญาติพี่น้องถือครองเพื่อให้จำนวนที่ดินอยู่ภายในเกณฑ์ที่กำหนด เป็นต้น
สำหรับกระบวนการตรวจสอบจะดำเนินการทั้งในส่วนที่ได้มีการจ่ายเงินไปแล้ว โดยจะเข้าไปติดตามว่ามีการดำเนินการจ่ายเงินอย่างถูกต้อง และเงินถึงมือชาวนาอย่างแท้จริง ไม่มีการหักค่าหัวคิว หรือคิดค่าธรรมเนียมต่างๆ และตรวจสอบในส่วนที่เตรียมจ่ายเงินด้วยว่าถูกต้องหรือไม่ ซึ่งคาดว่ากระบวนการดังกล่าวจะช่วยป้องกันการทุจริตได้ 99.99%
การดำเนินการครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สตง. และคณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ปปท.) ที่รับผิดชอบภาคเหนือและภาคใต้ ส่วนกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) รับผิดชอบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยในกรณีนี้ สตง.เห็นว่าเป็นจุดเสี่ยงให้เกิดการทุจริตในขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเกษตรกรและการรับรองพื้นที่ โดยอาจเป็นช่องทางให้ผู้ที่ไม่ซื่อสัตย์แจ้งข้อมูลไม่ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำหนังสือเพื่อชี้แจงให้นายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้ว" นายพิศิษฐ์ กล่าว
นายพิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า กระบวนการตรวจสอบครั้งนี้จะมีการดำเนินการผ่านระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลกผ่านดาวเทียม(Global Positioning System:GPS) ในการตรวจสอบพื้นที่ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนที่สุด โดยเบื้องต้นคาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดในส่วนที่ สตง.รับผิดชอบภายใน 1 เดือน ก่อนรายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบต่อไป โดยหากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิด จะดำเนินการเอาผิดทางอาญาแผ่นดินอย่างถึงที่สุด และหากเกษตรกรกระทำความผิด แม้เพียงเล็กน้อยก็ตามแต่ถือเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดจะมีโทษทางอาญาเช่นกัน