ทั้งนี้ ไตรมาส 3/57 สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวชะลอลงต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.6 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยชะลอลงทั้งสินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสินเชื่ออุปโภคบริโภค สินเชื่อธุรกิจ (ร้อยละ 68.9 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 4.5 โดยชะลอตัวในสินเชื่อเกือบทุกภาคธุรกิจ ขณะที่สินเชื่อ SME (ร้อยละ 37.7 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวชะลอลงมากจากร้อยละ 8.7 เป็นร้อยละ 4.7
ส่วนสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 4.3 โดยมีกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนหนึ่งระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้นทดแทนการกู้จากธนาคารพาณิชย์ สินเชื่ออุปโภคบริโภค (ร้อยละ 31.1 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 8.0 ชะลอตัวต่อเนื่อง จากการหดตัวของสินเชื่อรถยนต์และการชะลอตัวของสินเชื่อบัตรเครดิต
ขณะที่คุณภาพสินเชื่อด้อยลงเล็กน้อย สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) เพิ่มขึ้น 10.3 พันล้านบาท หรือร้อยละ 3.6 จากไตรมาสก่อน ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่ออุปโภคบริโภค ส่งผลให้สัดส่วน Gross NPL และ Net NPL ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ 2.34 และร้อยละ 1.18 จากร้อยละ 2.28 และร้อยละ 1.10 ในไตรมาส 2/57 ตามลำดับ
ด้านสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.54 จากร้อยละ 2.40 อย่างไรก็ดี ธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองต่อเนื่อง โดยสัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 166.9
อย่างไรก็ตาม ธปท.จะติดตามดู NPL ในไตรมาส 4/57 เพราะอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากเศรษฐกิจของประเทศยังไม่ฟื้นตัว