"จากการหารือร่วมกันเชื่อว่าไทยมีโอกาสที่จะดึงส่วนแบ่งทางการตลาดของข้าวหอมมะลิไทยกลับคืนมาได้ เพราะขณะนี้ระดับราคาข้าวหอมมะลิไทยลดลงมาอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ และผู้ซื้อในฮ่องกงยอมรับในราคาได้ ที่สำคัญข้าวไทยมีคุณภาพดี เป็นที่ยอมรับ ผู้นำเข้าจึงมีความเชื่อมั่นมากกว่าข้าวของคู่แข่ง" นางอภิรดี กล่าว
สำหรับแนวทางการดึงส่วนแบ่งทางการตลาดข้าวหอมมะลิไทยในฮ่องกงกลับคืนนั้น ผู้นำเข้าได้เสนอให้ไทยเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับข้าวหอมมะลิไทยในด้านคุณภาพ โดยการประชาสัมพันธ์เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยของกรมการค้าต่างประเทศให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และขอให้ไทยจดทะเบียนเครื่องหมายรับรองเป็นภาษาจีน จากเดิมที่ใช้คำภาษาอังกฤษว่า Thai Hom Mali Rice โดยให้จดทั้งในฮ่องกงและจีน เพื่อให้ผู้บริโภครู้จักมากขึ้น และยังเป็นการป้องกันปัญหาการปลอมปนข้าวหอมมะลิไทยด้วย
ขณะเดียวกัน ฮ่องกงยังได้เชิญให้ผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารที่ฮ่องกง ที่จะจัดขึ้นในเดือนส.ค.58 เพื่อประชาสัมพันธ์ข้าวไทยให้กับผู้บริโภคชาวฮ่องกงด้วย นอกจากนี้ ไทยยังมีแผนที่จะประชาสัมพันธ์ข้าวหอมมะลิชนิดอื่นๆ ในตลาดฮ่องกง เช่น ข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ข้าวหอมมะลิท้องถิ่นชนิดต่างๆ อาทิ ข้าวสังข์หยด เป็นต้น ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพดีในแต่ละพื้นที่ของไทย ส่วนในตลาดอื่นๆ ที่ซื้อข้าวหอมมะลิจากไทย เช่น สิงคโปร์ ก็จะเดินหน้าเรียกความเชื่อมั่นกลับคืน โดยจะทำให้ผู้ซื้อมีความเชื่อมั่นว่าข้าวหอมมะลิไทยเป็นข้าวคุณภาพสูง มีมาตรฐานระดับโลก
รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับปัญหาการส่งมอบข้าวตามสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยกับคอฟโก ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน จากการหารือได้ข้อสรุปเป็นที่น่าพอใจ โดยคอฟโกกับผู้ส่งออกสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพข้าวได้แล้ว และจะเริ่มส่งออกข้าวล็อตที่ 4 ในเดือน ธ.ค.นี้ แต่อาจจะมีบางส่วนเป็นข้าวหอมมะลิ ซึ่งวิธีการคงจะใช้วิธีเดิม โดยให้ผู้ส่งออกไปซื้อข้าวเปลือกหอมมะลิฤดูกาลใหม่ ปี 57/58 ไปส่งมอบ