(เพิ่มเติม1) ครม.เห็นชอบหลักการ กม.ภาษีมรดก คาดใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนประกาศใช้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 18, 2014 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันนี้อนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดก ซึ่งจะเป็นเชื่อมโยงกันระหว่างภาษีที่เกี่ยวกับมรดก และภาษีที่เกี่ยวกับการยกให้

โดยหลักการเบื้องต้นนั้น หากสามีโอนให้กับภรรยาก็ไม่ต้องเสียภาษี และกำหนดวงเงินทุนทรัพย์ไว้ที่ 50 ล้านบาท ซึ่งในที่ประชุมฯ ได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ และขอให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยอย่ากังวลใจในเรื่องนี้ ซึ่งกฎหมายเรื่องนี้จะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 6 เดือนจึงมีผลบังคับใช้ โดยต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติราว 3 เดือน และลงประกาศในราชกิจจาก่อน 90 วัน

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... รวม 2 ฉบับ ของกระทรวงการคลัง ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

ให้กระทรวงการคลังเร่งรัดดำเนินการจัดทำร่างอนุบัญญัติที่จำเป็นแก่การใช้บังคับพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ ตามข้อสังเกตของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) โดยเร็วต่อไป

ให้กระทรวงการคลังรับข้อสังเกตของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สำหรับสาระสำคัญ ประกอบด้วย 1.ร่างพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. ... มีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเสียภาษีการรับมรดก โดยกำหนดให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และไม่ใช้บังคับแก่มรดกที่เจ้ามรดกได้ตายก่อนวันที่ร่างพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และมรดกที่คู่สมรสของเจ้ามรดกได้รับจากเจ้ามรดก ดังนี้

1.1 กำหนดให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก ได้แก่ บุคคลผู้มีสัญชาติไทย ผู้มิได้มีสัญชาติไทย แต่มีภูมิลำเนาหรือมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลาสามปีติดต่อกันถึงวันมีสิทธิได้รับมรดก และบุคคลผู้มิได้มีสัญชาติไทย แต่ได้รับมรดกอันเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย

1.2 กำหนดให้มูลค่ามรดกที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก ผู้ได้รับมรดกไม่ว่าจะได้รับมาในคราวเดียวหรือหลายคราว ถ้าแต่ละรายรวมกันแล้วมีมูลค่าเกินห้าสิบล้านบาทต้องเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกิน ห้าสิบล้านบาท ซึ่งมูลค่ามรดกนี้หมายถึงมูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้นที่ได้รับเป็นมรดกหักด้วยภาระหนี้สินอัน ตกทอดมาจากการรับมรดกนั้น

1.3 กำหนดบทยกเว้นการเสียภาษีการรับมรดกให้แก่บุคคลหรือองค์กรที่ได้รับมรดก ได้แก่ บุคคลผู้ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่าประสงค์ให้ใช้มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ หน่วยงานของรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์โดยให้กำหนดเป็นกฎกระทรวง

1.4 กำหนดอัตราภาษีสำหรับการเสียภาษีการรับมรดก ผู้มีหน้าที่เสียภาษีการรับมรดก ต้องคำนวณและเสียภาษีในอัตราร้อยละสิบของมูลค่ามรดกในส่วนที่ต้องเสียภาษี ทั้งนี้ อัตราร้อยละสิบดังกล่าวจะตราพระราชกฤษฎีกาลดลงตามที่เห็นสมควรก็ได้

1.5 กำหนดการยื่นแบบ การชำระภาษีและการประเมินภาษีการรับมรดก

1.6 กำหนดความผิดและลงโทษสำหรับการกระทำความผิดหรือการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย เช่น กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีโดยไม่มีเหตุอันสมควรต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท กรณีทำลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปให้แก่บุคคลอื่นซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสี่แสนบาท และกรณีผู้ใดโดยความเท็จ โดยเจตนาละเลย โดยฉ้อโกงหรือใช้อุบายโดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด หลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นต้น

2. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อจัดเก็บภาษีเงินได้จากการรับให้ อันเป็นการสอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีรับมรดก ดังนี้

2.1 กำหนดให้เงินได้ที่ได้รับจากการรับมรดกได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

2.2 กำหนดให้ผู้มีเงินได้จะเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของเงินได้ส่วนที่เกินสิบล้านบาทโดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีได้ สำหรับเงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทน ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมที่ไม่ได้รับยกเว้น

2.3 กำหนดให้การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทน ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมให้ผู้โอนหักภาษีไว้ร้อยละ 5 ของเงินได้เฉพาะในส่วนที่เกินสิบล้านบาท

2.4 กำหนดบทเฉพาะกาล ให้การเสียภาษีเงินได้ในส่วนของเงินได้พึงประเมินที่ไม่ได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ให้คิดเฉพาะเงินได้ที่ได้รับมาภายหลังวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร คาดว่าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวจะสามารถนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้ในสัปดาห์หน้า ส่วนระยะเวลาที่จะมีผลบังคับใช้ จะอยู่ที่ประมาณ 6 เดือน หรือราวมิ.ย.58 โดยจะอยู่ในชั้นการพิจารณาของสนช.ประมาณ 3 เดือน และอีก 3 เดือนนับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาจึงจะมีผลบังคับใช้ได้

"วัตถุประสงค์ของสองร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อเป็นการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำทางด้ายรายได้ ซึ่งกรมฯไม่ได้คาดหวังในแง่ของรายได้ที่จะจัดเก็บได้เพิ่มขึ้นมากนัก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการรับให้มรดกด้วย อย่างไรก็ดี กรมฯได้ประเมินกลุ่มผู้ที่มีทรัพย์สินเกินกว่า 50 ล้านบาท มีอยู่จำนวนประมาณ 1 หมื่นราย" อธิบดีกรมสรรพากร ระบุ

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก่อนการพิจารณาอนุมัติร่างกฎหมายดังกล่าว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตั้งข้อสังเกตในหลายประเด็น เช่น ภาษีมรดกเป็นประเด็นทางการเมืองเสมอ เพราะรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง, การจัดเก็บภาษีทำได้ไม่ทั่วถึงและทำได้ยาก, พฤติกรรมการออมเปลี่ยนแปลงไป โดยอาจจะมีการโยกย้ายทรัพย์สินไปต่างประเทศ, ต้นทุนการจัดเก็บคุ้มค่าหรือไม่, ผู้มีรายได้น้อยอาจได้รับผลกระทบถ้าระบบการจัดเก็บไม่ดี, คนที่ไม่มีเงินจ่ายภาษีจะทำอย่างไร, ตลาดอสังหาริมทรัพย์อาจได้รับผลกระทบ โดยอาจมีการโยกย้ายถ่ายเทอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ได้มีการคาดการณ์ว่าอาจจะเกิดปัญหา เช่น จะเริ่มมีการโอนขายที่ดินหรือย้ายทรัพย์สิน จะมีการโยกย้ายการจัดตั้งนิติบุคคลไปต่างประเทศหรือจดตั้งเป็นมูลนิธิ ดังนั้นกระทรวงการจึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวแก่ประชาชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ