"กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก จึงขอความอนุเคราะห์จากภาครัฐที่เกี่ยวข้องระงับการออกใบอนุญาตนำเข้า และควรพัฒนามาตรฐานของสินค้าเหล็กดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการช่วยปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศและเพื่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย" นายทรงวุฒิกล่าว
สำหรับในข้อเท็จจริงนี้ เหล็กเส้นเสริมคอนกรีตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน การนำเข้าต้องได้รับการอนุญาตจาก สมอ.ตามมาตรา 21 หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามมาตรา 48 ซึ่งปัจจุบันมีหลักฐานที่ชัดเจนว่า สมอ.ยังไม่ได้ออกใบอนุญาตให้มีการนำเข้า รวมทั้งยังไม่มีข้อมูลการนำเข้าจากกรมศุลกากรแต่อย่างใด แต่ข่าวการขออนุญาตนำเข้าได้แพร่ออกไปและสร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศแล้ว
เมื่อยังไม่มีการนำเข้าสินค้าดังกล่าว กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กจึงมิอาจเสนอให้ผู้ประกอบการร้องขอต่อกระทรวงพาณิชย์เพื่อนำมาตรการป้องกันการทุ่มตลาดและมาตรการป้องกันการนำเข้าสินค้า(AD หรือ Safeguard) มาใช้แก้ไขสถานการณ์นี้ได้ แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กขอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งรัดจัดทำกฎหมายป้องกันการหลบหลีกการนำเข้าสินค้า(Anti-Circumvention) ตามที่ประเทศต่างๆได้บัญญัติไว้แล้ว
นอกจากนี้ จากการหาข้อมูลผลเสียที่เกิดขึ้นจากการเจือโบรอนในเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตพบว่า ปัจจุบันข้อมูลทางวิชาการที่น่าเชื่อถือได้ยืนยันว่า ยังไม่พบข้อดีใดๆ ที่บ่งบอกว่าการเจือโบรอนในจำนวนน้อย (0.008%) ไม่ว่าจะเป็นความแข็งแรง การศึกษาเกี่ยวกับโบรอนยังมีน้อยมาก จำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องต้องศึกษาให้รอบคอบเสียก่อนที่จะนำไปใช้ในการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคและอาคาร ที่อาจจะมีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัย
ดังนั้น เมื่อเหตุผลทางด้านวิศวกรรมยังไม่แน่ชัด เพื่อเป็นการปกป้องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและเป็นการอำนวยความสะดวกการค้าที่เป็นธรรม กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กขอสนับสนุนให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ระงับการออกใบอนุญาตนำเข้าสินค้าดังกล่าว และได้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการผลิตหรือนำเข้าเหล็กเจือโบรอน นอกจากนี้ให้คณะกรรมการวิชาการชุดที่ 9(กว 9) แก้ไขมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกำหนดเงื่อนไขว่าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตชนิดเจือโบรอนห้ามใช้กับงานก่อสร้าง
สำหรับประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบในกรณีเดียวกันนี้ ได้ออกมาตรการต่างๆ ทั้งมาตรการทางมาตรฐานสินค้าและมาตรการด้านภาษี เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ อินโดนิเซีย มาเลเซีย ปากีสถาน เวียดนาม และล่าสุดประเทศอินเดียได้ประกาศตอบโต้การนำเข้าสินค้าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตเจือโบรอนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน
ขอให้มีการตรวจสอบการนำเข้า square bar เจือโบรอน เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า square bar ดังกล่าวคือ billet ที่หลีกเลี่ยงการเสียภาษีในพิกัดที่ควรจะเป็นและมีการนำ square bar ดังกล่าวไปรีดเป็นเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตขายในประเทศ ดังนั้นหากที่ไม่มีหลักฐานยืนยันถึงกระบวนการผลิตว่าเป็น billet ที่ทำมาจาก Open heart process หรือ basic oxygen process หรือ electric arc furnace process ก็ถือเป็นเหตุชวนเชื่อได้ว่าเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตที่ผลิตขึ้นไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งผู้ผลิตนอกจากจะได้รับโทษตามข้อกฎหมายอื่นแล้ว ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมฯ อีกด้วย