กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการตลาดเกษตรกร (Farmer Market) ภายใต้สโลแกน“เกษตรกรจริงๆ ทุกสิ่งปลอดภัย" ตลาดเกษตรกร โดยมีหน่วยงานที่ตั้งในพื้นที่จังหวัด ทั้งส่วนภูมิภาคและส่วนกลางในภูมิภาค ทำหน้าที่ให้เกษตรกรผู้ผลิตได้พบผู้บริโภค ในลักษณะการบูรณาการร่วมกันจัดตลาดจำหน่ายสินค้าเกษตร ที่อยู่ในบริเวณเมืองเขตชุมชนหรือสถานที่ราชการที่เหมาะสม เป็นการขายตรงจากเกษตรกรสู่ผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีสินค้าหลากหลายชนิดและมีการแบ่งโซนสินค้า เพื่อความเป็นระเบียบตามประเภทของสินค้า เช่น พืชผัก ผลไม้ ปศุสัตว์ ประมง และแยกตามชั้นคุณภาพ
สำหรับเกษตรกรที่จะนำสินค้ามาจำหน่าย เป็นเกษตรกรที่มีการขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานภาครัฐ หรือเป็นเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐ มีพื้นที่การผลิตสินค้าในจังหวัดที่ตั้งตลาด หรือจังหวัดใกล้เคียงที่มีพื้นที่ติดต่อกัน และเป็นสมาชิกขององค์กรเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร และกลุ่มเกษตรกร
ทั้งนี้ สินค้าที่นำมาจัดจำหน่ายต้องเป็นสินค้าที่มาจากเกษตรกรโดยตรงหรือผู้แทนเกษตรกร เป็นสินค้าท้องถิ่นของแต่ละจังหวัด หรือสินค้าจากจังหวัดใกล้เคียงที่มีพื้นที่ชายแดนจังหวัดติดกัน คุณภาพของสินค้าที่จัดจำหน่ายต้องมีคุณภาพและปลอดภัยต่อการบริโภค โดยเป้าหมายให้จัดตลาดเกษตรกรจำหน่ายสินค้าอย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง และจำหน่ายสินค้าอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง เริ่มเปิดตลาดตั้งแต่ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป
เนื่องจากเกษตรกรที่ผลิตสินค้าสุขอนามัย มีคุณภาพและได้มาตรฐานเพื่อตอบสนองต่อผู้บริโภค โดยมีกระบวนการผลิตต่าง ๆ เช่น การผลิตการเกษตรที่ดี (GAP) การแปรรูปที่ดี (GMP) สินค้า Q สินค้าที่ปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ และผลิตภัณฑ์ชีวภาพ โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก เกษตรกรไม่มีแหล่งระบายผลผลิตโดยตรงระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตกับผู้ซื้อสินค้า ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ไม่มีอำนาจต่อรองในเรื่องราคา อีกทั้งทำให้ผลผลิตเสียหาย ส่งผลให้ราคาตกต่ำและประสบภาวะขาดทุน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรในช่วงดังกล่าว จึงสนับสนุนให้มีการจัดหาสถานที่ในการพบปะกันระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตกับผู้ซื้อสินค้า วัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรเป็นผู้จำหน่ายโดยตรง เป็นการสร้างโอกาสให้เกษตรกรมีช่องทางการตลาดเป็นของตนเอง สำหรับจำหน่ายสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพที่ผ่านการรับรองโดยระบบต่าง ๆ เช่น GAP GMP ฯลฯ รวมทั้งผู้บริโภคมีแหล่งซื้อสินค้าที่มีคุณภาพปลอดภัยและได้มาตรฐาน อันจะส่งผลต่อการลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร และเพิ่มรายได้ของเกษตรกรในท้องถิ่น