ธปท.มอง GDP ปี 57 โตใกล้เคียงสภาพัฒน์ประเมินที่ 1% หวังใช้จ่าย-ลงทุนรัฐหนุนศก.Q4

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 20, 2014 15:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้อาจจะเติบโตได้ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ ธปท.เคยคาดการณ์ไว้ที่ 1.5% และอาจอยู่ในระดับใกล้เคียงกับที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ประเมินไว้ที่ 1% เพราะหากจะทำให้เศรษฐกิจทั้งปีเติบโตได้ 1.5% ในไตรมาส 4/57 จะต้องขยายตัวถึง 5% แต่หากขยายตัวในระดับ 3.3-3.5% ก็คงเติบโตได้เพียง 1%

อย่างไรก็ดี การที่เศรษฐกิจในปีนี้จะเติบโตได้ถึง 1.5% ก็ยังมีความเป็นไปได้ หากมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายลงทุนของภาครัฐลงไปในโครงการต่างๆ ซึ่งจุดนี้จะถือว่าเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยกระชากเศรษฐกิจได้ดีพอสมควร

ขณะที่ในปี 58 ธปท.ประเมินการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ที่ 4.8% และจะมีการทบทวนตัวเลขอีกครั้งในเดือน ธ.ค.57 พร้อมมองว่า ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าที่สำคัญ คือ การเติบโตของเศรษฐกิจโลก และความรวดเร็วในการใช้จ่ายเงินของภาครัฐ ขณะที่เชื่อว่าจะมีความผันผวนในเรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นผลจากนโยบายทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันตามภาวะเศรษฐกิจในสหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ดี ธปท.ไม่มีความเป็นห่วงในจุดนี้มากนัก เนื่องจากไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับที่ค่อนข้างสูงสำหรับรองรับความผันผวนในจุดนี้

นายดอน กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวฉุดให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาให้เติบโตต่ำกว่าศักยภาพ นอกจากปัญหาทางการเมืองในประเทศแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างในภาคการส่งออก เช่น ข้อจำกัดในเทคโนโลยีการผลิตที่ไม่สามารถรองรับความต้องการของตลาดโลก และการพึ่งพาการส่งออกสินค้าเกษตรค่อนข้างมาก ซึ่งช่วงที่ผ่านมาสินค้าเกษตรมีราคาตกต่ำ จึงทำให้ภาพรวมการส่งออกได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ ยอมรับว่าต่อจากนี้ไปคงเป็นการยากที่จะได้เห็นการส่งออกของไทยเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก(digit)เช่นในอดีต โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกจะเติบโตได้ในระดับ 4-5% ซึ่งจะถือเป็น New Normal สำหรับอัตราการส่งออกของไทยหลังจากนี้ รวมถึงในปีหน้า

“ส่งออกก็เป็นตัวหนึ่งที่ทำให้ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจลด แต่ปีนี้การเมืองก็เป็นตัวกดดันพอๆ กัน 50:50 หรือการเมืองอาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะถ้าปีนี้ไม่มีปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจไทยคงไม่โตได้ต่ำเท่านี้"นายดอน กล่าว

ขณะที่ปัจจัยอื่นๆ เป็นปัญหาชั่วคราว ได้แก่ 1.เศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวต่ำกว่าปกติ ทำให้การส่งออกสินค้าอื่นๆ ที่ไม่มีข้อจำกัดเชิงโครงสร้างได้รับผลกระทบไปด้วย โดยในช่วงที่ผ่านมามีเพียงสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวชัดเจน ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปและญี่ปุ่นยังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อีกทั้งเศรษฐกิจจีนก็ขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าที่เคยเป็นในอดีต 2.การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวต่ำกว่าแนวโน้มปกติ จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นมากหลังน้ำท่วม และการชะลอการซื้อรถยนต์ ภายหลังจากได้เร่งซื้อไปแล้วในช่วงที่รัฐบาลออกมาตรการรถคันแรกในปี 55

3.รายจ่ายภาครัฐทำงานได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากมีปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง รวมทั้งมีการทบทวนความคุ้มค่าของโครงการต่างๆ ทำให้การใช้จ่ายภาครัฐล่าช้า 4.การลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง 2 ปีติดต่อกัน หลังจากที่มีการลงทุนซ่อมสร้างค่อนข้างมากในช่วงหลังน้ำท่วม รวมทั้งภาคการผลิตยังมีกำลังการผลิตเหลือในช่วงอุปสงค์อยู่ในระดับต่ำ และความเชื่อมั่นของภาคเอกชนลดลงจากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมือง การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมือง

นายดอน กล่าวอีกว่า ระยะต่อไปคาดว่าเมื่อปัญหาชั่วคราวหมดไป การใช้จ่ายภาคเอกชนและภาครัฐจะมีแนวโน้มกลับสู่ภาวะปกติ รวมทั้งการส่งออกที่ทยอยฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก จะช่วยให้เศรษฐกิจในปีหน้ามีแนวโน้มขยายตัวได้ใกล้เคียงกับระดับศักยภาพมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ