นางสาวปาริฉัตร เหล่าธีระศิริวงศ์ รักษาการกรรมการ เอสเอ็มอีแบงก์ เปิดเผยว่า ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้เจรจากัน โดยเป็นกลุ่มลูกหนี้ของธนาคารที่เป็น NPLs เงินต้นไม่เกิน 20 ล้านบาท ที่มีสถานะทางคดีอยู่ในขั้นตอนที่ศาลพิพากษาแล้วจนถึงกระบวนการเตรียมบังคับคดีดังกล่าวของธนาคารนั้น มีจำนวน 11,064 ราย คิดเป็นเงินต้นรวม 7,837.92 ล้านบาท โดยแยกเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรายย่อยจำนวน 10,409 ราย เงินต้น 4,069.65 ล้านบาท และหนี้ที่มีหลักประกัน จำนวน 655 ราย เงินต้น 3,768.27 ล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารจะประสานงานกับกรมบังคับคดีเพื่อนัดเจรจาไกล่เกลี่ยกับลูกหนี้แบ่งตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งขั้นต้นน่าจะเริ่มที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลภายในปีนี้ และขยายไปยังภูมิภาคต่างๆ ในปีหน้าต่อไป
เมื่อกรมบังคับคดีเข้ามาเป็นตัวกลางช่วยไกล่เกลี่ยน่าจะทำให้ลูกหนี้มีความสบายใจมากขึ้น จะช่วยให้ธนาคารและลูกหนี้มีโอกาสเจรจากัน ซึ่งหากสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ ก็ถือเป็นเรื่องดีที่ธนาคารจะไม่ต้องยึดทรัพย์ลูกหนี้ เป็นการให้โอกาสลูกหนี้สามารถกลับไปดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ด้านนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้มแข็ง ประกอบกับตามนโยบายสำคัญเร่งด่วน 5 ด้านของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ด้านอำนวยความยุติธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของประชาชน ซึ่งกรมบังคับคดีที่มีภารกิจหลักในด้านการบังคับคดีตามคำพิพากษา หรือคำสั่ง และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่เป็นอีกภารกิจหนึ่งของกรมบังคับคดี เนื่องจากเป็นกระบวนการยุติธรรมทางเลือกเพื่อเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้เจรจากัน และกรณีของเอสเอ็มอีแบงก์มีลูกหนี้กลุ่มวิสาหกิจดังกล่าวจำนวนมากที่ต้องการความช่วยเหลือเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไป เป็นการลดความสูญเสียของประเทศในภาพรวม