อย่างไรก็ดี มองว่าภาครัฐควรจะตัดสินใจในการลงทุนด้านต่างๆ ด้วยความรวดเร็ว เพราะภาคเอกชนมีความพร้อมในการลงทุนอยู่แล้ว สำหรับมาตรการทางการเงินมองว่าจะเป็นการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น โดยมองว่าระยะยาวควรเร่งรัดการลงทุนทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนมากกว่า
ขณะที่ด้านการท่องเที่ยวนั้น คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีหลังจากปัญหาการเมืองในประเทศได้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ขณะที่การส่งออกคงต้องเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่จะต้องเร่งพัฒนาการผลิตสินค้า และลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขันที่สามารถสู้กับประเทศคู่แข่งได้
ด้านนายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย(CIMBT) เปิดเผยว่า ในปี 58 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ราว 3-4% โดยได้รับแรงหนุนจากโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในประเทศที่เริ่มดีขึ้นตั้งแต่กลางปี 57 เป็นต้นมา ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่เริ่มจะกลับมาฟื้นตัวได้ชัดเจน โดยเฉพาะกรณีของสหรัฐอเมริกา
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตามหลังจากนี้ คือ ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นตัวฉุดการบริโภคในประเทศ แต่ทั้งนี้หากดูจากข้อมูลจะพบว่าหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงมาจากผู้ที่มีรายได้น้อยเป็นส่วนใหญ่ โดยยังมองว่าความเชื่อมั่นในการบริโภคและการใช้จ่ายจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ชัดเจนขึ้นหลังจากนี้
สำหรับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนภาครัฐ เพื่อเร่งเบิกจ่ายงบประมาณด้านต่างๆ นั้น เชื่อว่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในระยะต่อไป