รมว.เกษตรฯ เปิดแผนปี 58 ชูทำนาแบบประณีตต่อเนื่องเน้นลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิต

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 24, 2014 10:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในปี 58 กระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายจัดทำโครงการแปลงสาธิตลดต้นทุนการผลิตข้าวแปลงใหญ่ (การทำนาแบบประณีต) พื้นที่เป้าหมายจุดละ 500 ไร่ จำนวน 9 ชุมชน/จังหวัด มีการส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ศูนย์ข้าวชุมชน จำนวน 11 จังหวัด 55 หมู่บ้าน ให้เป็นหมู่บ้านลดต้นทุนการผลิตข้าวที่สามารถวิเคราะห์ทดสอบหาสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวสูง พร้อมทั้งหาแนวทางในการลดต้นทุนการผลิตข้าวที่เหมาะสมกับหมู่บ้านของตนเองได้ เป็นผลให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 1,000 บาท/ตัน

รวมทั้งมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิตข้าวแก่ชาวนา โดยการจัดทำแปลงศึกษาเรียนรู้การลดต้นทุนการผลิตข้าวในชุมชนต่อเนื่องปี 57 จำนวน 89 ชุมชน ในพื้นที่ 26 จังหวัด เพื่อเป็นจุดเรียนรู้ศึกษาดูงานตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเกษตรกรทั้งในพื้นที่และทั่วประเทศ

ก่อนหน้านี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมการข้าวและกรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตข้าวนำร่อง “การพัฒนากรรมวิธีการปลูกข้าวแบบประณีต (Intensive Farming)"ตั้งแต่ปี 57 ใน 10 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิษณุโลก นครราชสีมา บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และขอนแก่น โดยมีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ในเชิงธุรกิจครบวงจรตั้งแต่การผลิตการรับรองคุณภาพ และการตลาด รวมทั้งการดำเนินการพัฒนาชุมชนให้เป็นจุดเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี

ทั้งนี้ ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการสามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวได้จริงทั้งในเขตชลประทานและในเขตนาน้ำฝน เช่น ชาวนาจำนวน 50 ราย ในจ.นครสวรรค์ เดิมใช้เทคโนโลยีการทำนาแบบนาหว่าน ผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์และเป็นข้าวเปลือกจำหน่าย ก่อนเข้าร่วมโครงการได้ผลผลิต 719 กิโลกรัม/ไร่ ต้นทุนการผลิต 6,140 บาท/ไร่ หรือ 8,540 บาท/ตัน แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาโดยใช้เครื่องปักดำ สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ ได้ผลผลิต 907 กิโลกรัม/ไร่ ต้นทุนการผลิต 4,781 บาท/ไร่ หรือ 5,271 บาท/ตัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าผลผลิตเพิ่มขึ้น 188 กิโลกรัม/ไร่ คิดเป็น 26% สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 1,359 บาท/ไร่ คิดเป็น 22% หรือ 3,269 บาท/ตัน คิดเป็น 38%

ส่วนรายได้พบว่าที่ผลิตเป็นเมล็ดพันธุ์รายได้เพิ่มขึ้น 6,103 บาท/ไร่ คิดเป็น 56% หรือ 6,729 บาท/ตัน คิดเป็น 61% ขณะที่ในเขตนาน้ำฝน พื้นที่อำเภอกระสัง จังหวัดบุรีรัมย์ ชาวนาจำนวน 45 ราย พื้นที่ 500 ไร่ ใช้เทคโนโลยีการทำนาแบบนาหว่าน ประเภทผลผลิตข้าวเปลือก ซึ่งก่อนเข้าร่วมโครงการได้ผลผลิต 426 กิโลกรัม/ไร่ ต้นทุนการผลิต 3,000 บาท/ไร่ หรือ 6,390 บาท/ตัน แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการมีการปรับเปลี่ยนวิธีการเป็นการใช้เทคโนโลยีการทำนาโดยใช้เครื่องหยอดสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ผลผลิต 500 กิโลกรัม/ไร่ ต้นทุนการผลิต 2,300 บาท/ไร่ หรือ 4,600 บาท/ตัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าผลผลิตเพิ่มขึ้น 74 กิโลกรัม/ไร่ คิดเป็น 17.4 % สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 700 บาท/ไร่ คิดเป็น 23.3% หรือ1,790 บาท/ตัน คิดเป็น 28% ส่วนรายได้พบว่ามีรายได้เพิ่มขึ้น 5,200 บาท/ไร่ คิดเป็น 69.3% หรือ 10,400 บาท/ตัน คิดเป็น 69.3%

นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ส่งเสริมแนวทางการปฏิบัติให้แก่เกษตรกร คือ 1.ต้องใช้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ สามารถเพิ่มผลผลิตได้ 10% หรือ 300-500 บาท/ไร่ 2.ต้องใช้เมล็ดพันธุ์มีคุณภาพ อัตราการใช้ และวิธีการปลูกที่เหมาะสมกับพื้นที่ สามารถลดต้นทุนได้ 400-600 บาท/ไร่ 3.ต้องลดการใช้ปุ๋ยเคมี สามารถลดต้นทุนได้ 200-300 บาท/ไร่ 4.ต้องลดการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูข้าว สามารถลดต้นทุนได้ 200-300 บาท/ไร่ 5.ต้องลดการสูญเสียระหว่างการเก็บเกี่ยวและหลักการเก็บเกี่ยว สามารถลดการสูญเสียได้ 5-10% หรือ 200-500 บาท/ไร่ 6.ต้องทำบัญชีฟาร์ม เพื่อบันทึกรายละเอียดรายรับรายจ่าย จากการปลูกข้าวและรายจ่ายทั้งหมดในครัวเรือน เพื่อให้ทราบสถานการณ์ใช้จ่าย สามารถควบคุมการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ซึ่งเมื่อชาวนาปฏิบัติตามคำแนะนำนี้จะสามารถลดต้นทุนได้อย่างต่ำ 1,000-1,500 บาท/ไร่ หรือเพิ่มผลผลิตได้ 20% เป็นเงิน 600-1,000 บาท/ไร่ รวมเป็นเงิน 1,600-2,500 บาท/ไร่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ