ที่ผ่านมา บีโอไอเล็งเห็นศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมในมณฑลซานตงอย่างมาก เนื่องจากเป็นมณฑลที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศจีน โดยเฉพาะเมืองชิงเต่าของมณฑลซานตงนับว่าเป็นเมืองท่าที่ใหญ่และสำคัญอันดับที่ 4 ของประเทศจีน ขณะที่มณฑลซานตงเองยังมีชื่อเสียงทางด้านการเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมยางพารา และแหล่งนำเข้ายางพาราที่สำคัญของไทย ปัจจุบันมีผู้ประกอบการจากมณฑลซานตงในกลุ่มผลิตยางล้อรถยนต์ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว อาทิ บริษัท หลิงหลง ไทร์ จำกัด
"ศักยภาพของภาคอุตสาหกรรมของมณฑลซานตง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางแปรรูป สอดคล้องกับเป้าหมายของบีโอไอและนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ผลักดันให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มสูงจากยางธรรมชาติ โดยนับเป็นวาระสำคัญของรัฐบาล ซึ่งคาดว่างานนี้จะก่อให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจของนักธุรกิจจากทั้ง 2 ประเทศในด้านดังกล่าวมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามภายในงานยังมีนักธุรกิจจากอีกหลายกลุ่มที่เข้าร่วมเจรจาหาลู่ทางลงทุนกับนักธุรกิจไทย อาทิ อุตสาหกรรมเครื่องจักร และอุปกรณ์ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งคาดว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้เล็งเห็นศักยภาพและโอกาสในการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในอนาคตด้วยเช่นกัน" น.ส.อัจฉรินทร์ กล่าว
ด้านนายเฉิน กวง รองประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมืองของจีน (Chinese People’s Political Consultative Conference: CPPCC) กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศจีนกำลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือภาคเศรษฐกิจการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน และกิจกรรมระหว่างมณฑลซานตงกับประเทศไทยในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งภายใต้ยุทธศาสตร์ "แถบเศรษฐกิจและเส้นทางสายไหม" ซึ่งจะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอย่างมีเสถียรภาพ และส่งเสริมการสร้างกลไกความร่วมมือทั้งระดับภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการลงทุน และภาคการท่องเที่ยว
"เราได้รับการมอบหมายจากรัฐบาลมณฑลซานตง ให้นำคณะผู้แทนการค้าและการลงทุนจากมณฑลซานตงมาเยือนประเทศไทย เพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือภาคการผลิตระหว่างมณฑลซานตงกับประเทศไทยอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมชั้นนำของมณฑลซานตงมาลงทุนในประเทศไทย ผู้ประกอบการชั้นนำในมณฑลซานตงที่มาร่วมงานวันนี้ มีความพร้อมที่จะเข้ามาลงทุน เช่น อุตสาหกรรมผลิตล้อยางรถยนต์จากยางพารา มณฑลซานตงเป็นแหล่งผลิตล้อยางรถยนต์ที่มีปริมาณผลผลิตมากที่สุดในประเทศจีน คิดเป็น 40% ของปริมาณผลผลิตทั่วประเทศจีน ในขณะที่ประเทศไทยมีแหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญที่สุดในโลก ดังนั้น จึงมีโอกาสที่จะเกิดความร่วมมือกับไทยอย่างมาก" นายเฉิน กวง กล่าว
รองประธานสภาที่ปรึกษาทางการเมืองของจีน ยังกล่าวด้วยว่า อยากให้หน่วยงานภาครัฐที่ดูแลด้านการส่งเสริมการค้าและการลงทุนของทั้งสองฝ่าย ร่วมมือกันสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรภาคเศรษฐกิจการค้าการลงทุน โดยคณะกรรมการส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งมณฑลซานตง (CCPIT) และหอการค้าสากลมณฑลซานตง กับบีโอไอ และหอการค้าไทยจีน ควรสร้างกลไกความร่วมมือเพื่อให้เกิดการประสานงานอย่างใกล้ชนิด และร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นในความร่วมมือภาคธุรกิจการค้า
รวมทั้งอยากให้ช่วยกันสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในนิคมอุตสาหกรรมของทั้งสองฝ่าย ซึ่งมณฑลซานตงมีศักยภาพในอุตสาหกรรมล้อยางรถยนต์ การแปรรูปผลผลิตภาคการเกษตร การประมงในทะเลและภาคอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆ และจะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการจัดตั้งเป็นกลุ่มก้อน เพื่อเข้ามาพัฒนาสร้างนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย
สำหรับมณฑลซานตง ถือเป็นมณฑลที่มีความสำคัญด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวในภาคตะวันออกติดแนวชายฝั่งทะเลทางเหนือของประเทศจีน และเป็นมณฑลใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญภาคเศรษฐกิจ มีประชากรมากถึง 96 ล้านคน ในปี 2013 มณฑลซานตงมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) สูงถึง 8.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง ขณะเดียวกันมณฑลซานตงมีปริมาณผลผลิตและการส่งออกมากติดอันดับต้นๆ ของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องจักรเครื่องยนต์ เคมีภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง อาหารแปรรูป และล้อยางรถยนต์ที่ผลิตจากยางพารา ซึ่งมีศักยภาพออกไปลงทุนในต่างประเทศ
ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีสัดส่วนการค้ากับมณฑลซานตงมากเป็นอันดับต้นๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน และขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในปี 2013 มณฑลซานตงมีปริมาณการค้ากับไทย มูลค่ารวม 6,850 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 2% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมณฑลซานตงนำเข้าสินค้าไทยที่สำคัญ ประกอบด้วย ยางพารา, อาหาร(ข้าว), พลาสติก, เครื่องจักรและอุปกรณ์, ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ฯลฯ
ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากมณฑลซานตงรายการหลักๆ ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ, เครื่องจักรและเครื่องมือ, เหล็กกล้า, เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์, ยาฆ่าแมลง, ผลไม้แห้งและผลไม้เปลือกแข็ง ล้อยางรถยนต์ชนิดใหม่ และผักสด
ขณะที่ภาคการลงทุนของทั้งสองฝ่ายยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สิ้นปี 2012 มีผู้ประกอบการไทย 37 รายเข้ามาลงทุนในซานตง และในปี 2013 รัฐบาลมณฑลซานตงได้อนุมัติให้ผู้ประกอบการไทยเข้ามาลงทุนเพิ่มในอีก 5 โครงการ ในปี 2012 ทางรัฐบาลมณฑลซานตงได้อนุมัติให้ผู้ประกอบการของซานตงรวม 2 รายมาลงทุนในประเทศไทย และในปีที่แล้ว ได้อนุมัติให้ผู้ประกอบการซานตงมาตั้งบริษัทในประเทศไทยรวม 4 ราย