ทิศทางการฟื้นตัวในกรอบที่จำกัดของเศรษฐกิจโลกดังกล่าวข้างต้น นอกจากจะบ่งชี้ว่ากำลังซื้อของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ยังคงไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้พร้อมกันแล้ว ยังอาจสะท้อนถึงความผันผวนของค่าเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ซึ่งอาจจะเคลื่อนไหวในจังหวะที่ไม่สอดคล้องกับทิศทางการอ่อนค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ สถานการณ์การส่งออกของไทยในปี 2558 ก็ยังคงต้องรับมือกับโจทย์ที่อาจจะลากยาวต่อเนื่องจากปีนี้ อาทิ ราคาสินค้าส่งออกที่มีกรอบการฟื้นตัวไม่มาก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรรายการสำคัญ และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าส่งออก เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภค และช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดโลกกลับมาจากคู่แข่ง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาคการส่งออกไทยน่าจะผ่านพ้นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดมาแล้ว ขณะที่ฐานเปรียบเทียบที่ต่ำจากการฟื้นตัวที่ล่าช้าในปีนี้ น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้การส่งออกในปี 2558 สามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้ในกรอบร้อยละ 2.0-4.5 (ค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 3.5) เทียบกับที่อาจจะไม่ขยายตัวในปีนี้
ทั้งนี้ ตลาดส่งออกที่จะนำการฟื้นตัว ประกอบด้วย การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ(ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นมาที่ร้อยละ 4.2 ในปี 2558 จากร้อยละ 2.8 ในปี 2557) ที่สัญญาณเศรษฐกิจมีการฟื้นตัว และการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน (9) (ซึ่งคาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 4.9 ในปี 2558 จากร้อยละ 0.6 ในปี 2557) โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV (ที่อาจขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ประมาณร้อยละ 12.0 ในปี 2558) ที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดเสรีการค้า และการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
ขณะที่การส่งออกไปตลาดจีนก็อาจพลิกจากภาพที่หดตัวรุนแรงในปีนี้ มาขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 2.0 ในปี 2558 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทางการจีนสามารถประคองการเปลี่ยนผ่านกระบวนการปฎิรูปเศรษฐกิจให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น
อย่างไรก็ดี การส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปอาจขยายตัวในกรอบที่ชะลอลงตามการฟื้นตัวที่เปราะบางของเศรษฐกิจ และการยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP)