ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น สะท้อนได้จากยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนตุลาคม 2557 ที่แม้ว่าจะกลับมาหดตัวที่ร้อยละ -1.7 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 2.8 ต่อเดือน แบ่งเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศที่ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีที่ร้อยละ 3.3 ต่อปี ขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้าหดตัวร้อยละ -7.5 ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนตุลาคม 2557 แม้ว่ายังคงหดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ -7.6 ต่อปี แต่ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อเดือน
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 69.6 จากในเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 69.2 เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และราคาน้ำมันแก็สโซฮอล์ในประเทศที่ปรับตัวลดลงทำให้ภาระค่าครองชีพของประชาชนลดลง
การลงทุนภาคเอกชนดีขึ้น โดยในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรสะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์แม้ว่ายังคงหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ-13.6 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 ต่อเดือน หมวดก่อสร้าง สะท้อนจากยอดขายปูนซิเมนต์หดตัวที่ร้อยละ -5.7 ต่อปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 ต่อเดือน อย่างไรก็ตาม ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ -4.4 ต่อปี และ -8.6 ต่อเดือนตามลำดับ เนื่องจากในเดือนก่อนหน้ามีกระแสข่าวเกี่ยวข้องกับภาษีมรดก จึงทำให้มีการเร่งทำธุรกรรมและส่งผลให้ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนกันยายน ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 16.1 ต่อปี
สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐมีอัตราเร่งขึ้น การเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนตุลาคม 2557 พบว่ามีจำนวน 367.6 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 42.3 ต่อปีเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.3 ต่อปี แบ่งเป็น 1.รายจ่ายประจำ 330.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 36.7 ต่อปี และ 2.รายจ่ายลงทุน 14.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 449.6 ต่อปี ทั้งนี้รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558ในเดือนแรกเบิกจ่ายได้ 344.8 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 13.4 ของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2558 (2,575.0 พันล้านบาท)
นอกจากนี้ อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันหรือขยายตัวสูงสุดในรอบ 21 เดือน โดยขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 4.7 ต่อเดือนโดยสินค้าส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ สินค้าในหมวดเกษตรกรรม น้ำตาลทราย ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวเพิ่มเติมว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานยังส่งสัญญาณหดตัวจากภาคเกษตรกรรม ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมหดตัวร้อยละ -3.4 ต่อปี และหดตัวร้อยละ -5.5 ต่อเดือน ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นปี ทำให้เกษตรกรลดการปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 ประกอบกับผลผลิตมันสำปะหลังที่หดตัวลง เนื่องจากมีการเร่งเก็บเกี่ยวไปแล้วในช่วงก่อนหน้า
ขณะที่ภาคบริการสะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือน ที่ร้อยละ 6.1 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 12.3 ต่อเดือน สะท้อนถึงนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ภายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยนักท่องเที่ยวจีนขยายตัวสูงถึงร้อยละ 67.0 ต่อปี ปัจจัยหลักจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมวิซ่า
ด้านเสถียรภาพในประเทศยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี สามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.8 จากต้นทุนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางลดลงต่อเนื่อง และการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศ ขณะที่อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.8 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 2.89 แสนคน และเสถียรภาพภายนอกประเทศอยู่ในระดับมั่นคง สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 160.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.7 เท่า สามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้