สำหรับทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือนั้นถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญในการเชื่อม East-West Corridor ของกรุงเทพฯ รองรับปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้น และเชื่อมกับโครงการมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวงที่บางใหญ่เพื่อไปสู่ทวายได้ ซึ่ง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม มีนโยบายให้ดำเนินการต่อ ส่วนปัญหาการต่อต้านจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นั้นเป็นหน้าที่ของ กทพ.ที่จะต้องไปทำความเข้าใจ
ด้านนายอัยยณัฐ ถินอภัย ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า ขณะนี้ทั้ง 3 โครงการอยู่ในขั้นตอนการนำเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA )และจะเสนอ ครม.ขออนุมัติดำเนินโครงการทั้ง 3 สาย และเปิดประกวดราคาให้ได้ภายในปี 58 โดยคาดว่าในไตรมาส 1 /58 จะเสนอ ครม.เห็นชอบสายพระราม 3-ดาวคะนองก่อน
ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้นได้มีการศึกษาไว้ 3 แนวทางคือ 1.ความร่วมมือภาครัฐ-ภาคเอกชน(Public Private Partnership: PPP) 2.กทพ.ลงทุนเอง และ 3.การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละโครงการจะเหมาะสมกับรูปแบบใด
ที่ผ่านมา กทพ.เคยดำเนินการในรูปแบบ PPP และ กทพ.ลงทุนเองแล้ว ส่วนการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นนโยบายที่จะต้องพิจารณาประเด็นรายได้ที่จะต้องนำมาคืนให้กับนักลงทุนได้ ซึ่งมีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณาประกอบ ทั้งกรณีที่ กทพ.มีภาระหนี้สินสะสมประมาณ 70,000 ล้านบาท และภารกิจของหน่วยงานที่ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากยังมีกรมทางหลวงทำหน้าที่ในการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ที่เป็นระบบทางพิเศษเก็บค่าผ่านทางเช่นเดียวกัน
"เร็วๆนี้ รมว.คมนาคมจะประชุมเกี่ยวกับเรื่องการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่ง กทพ.คงต้องนำเสนอข้อมูลและข้อสังเกตต่อที่ประชุมเพราะตั้งกองทุนฯ จะต้องมองที่นักลงทุนเป็นสำคัญ ถ้าภารกิจของ กทพ.ไม่ชัดเจน อาจทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจได้ รัฐบาลอาจต้องมอบภารกิจให้ชัดเจน รวมถึงภาระหนี้ของ กทพ.กว่า 7 หมื่นล้านบาทด้วย ซึ่งรัฐบาลต้องเข้ามาอุดหนุนในแต่ละโครงการเพื่อให้มีผลตอบแทนทางการเงินที่ดี ซึ่งขณะนี้รูปแบบ PPP จึงยังเป็นแนวทางที่มีความเหมาะสมและดีที่สุดในการลงทุนก่อสร้างทางด่วน เนื่องจากเอกชนเป็นผู้ลงทุนและจัดเก็บรายได้ให้ รัฐบาลไม่ต้องลงทุน" นายอัยยณัฐ กล่าว