ขณะที่ภาพรวม 10 เดือนแรกปี 57 พบว่า MPI หดตัว 5.1% แต่มีการฟื้นตัวที่ดีขึ้นในเดือนตุลาคม ทำให้โดยภาพรวมตลอดทั้งปี 57 คาดว่าจะหดตัว 4%
สำหรับภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ปี 57 ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 1,950,000 คัน ลดลง 20.64% แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศประมาณ 850,000 คัน ลดลงร้อยละ 35.90 และการผลิตเพื่อส่งออกประมาณ 1,100,000 คัน เพิ่มขึ้น 2.50% ส่วนปี 58 คาดว่าการผลิตจะขยายตัวประมาณ 10% หรือคิดเป็นปริมาณยอดผลิตรถยนต์ราว 2,150,000 คัน เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศและตลาดส่งออกหลักมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตภาพรวมปี 57 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 1-2% โดยมาจากการขยายตัวในกลุ่มเครื่องปรับอากาศที่จะส่งออกไปตลาดหลักได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดอาเซียน ขณะที่กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มาจากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Semiconductor และ IC จะเพิ่มขึ้นจากความต้องการนำไปใช้ในอุปกรณ์สื่อสาร (Communications system) เช่น Smart Phone Tablet Bluetooth หน้าจอ Touch screen วีดีโอเกมส์ (เช่น Sony PS4 Microsoft Xbox) และกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Consumer electronics) รวมถึงการเพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรมยานยนต์มากขึ้น
ส่วน HDD ในปี 57 คาดว่าจะอยู่ในภาวะทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ด้านแนวโน้มปี 58 คาดว่าการผลิตจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 2-4% เนื่องจากมีปัจจัยบวกทางด้านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง การขยายตัวของตลาดทีวีดิจิตอล ซึ่งจะส่งผลให้กำลัง-ซื้อของผู้บริโภคในประเทศฟื้นตัวได้ในปี 58 นอกจากนี้ การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าไปอาเซียนปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจในอาเซียน และผู้บริโภคในประเทศอาเซียน เชื่อมั่นคุณภาพสินค้าไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ปริมาณความต้องการบริโภคเหล็กของไทยปี 57 จะลดลงประมาณ 4.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปริมาณการใช้เหล็กอยู่ที่ 16.90 ล้านตัน การผลิต 6.19 ล้านตันลดลง 10.00% เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากปัญหาสถานการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ช่วงต้นปี ส่งผลให้ตลาดในประเทศชะลอตัว ขณะเดียวกันมีแนวโน้มการนำเข้าเหล็กจากประเทศจีนเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจของจีน โดยเฉพาะปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์
สำหรับสถานการณ์เหล็กในปี 58 ในส่วนการผลิตจะทรงตัว คือ 6.19 ล้านตัน โดยความต้องการใช้เหล็กในประเทศอยู่ในช่วง 0-3% ซึ่งปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้ความต้องการใช้เหล็กสูงขึ้น คือ การลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ เนื่องจากการก่อสร้างของภาคเอกชนยังคงชะลอตัวอยู่ เพราะผู้บริโภคชะลอการซื้อและลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมปี 57 คาดว่าจะยังขยายตัวได้โดยเฉพาะกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยผู้ผลิตเสื้อผ้ากีฬาอาจได้รับอานิสงส์จากคำสั่งซื้อในลีกกีฬาประเภทต่างๆ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกขยายตัว สำหรับการผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ และผ้าผืน อาจหดตัว อย่างไรก็ตาม อาจมีความต้องการโดยเฉพาะในตลาดอาเซียน ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาสสุดท้าย ประกอบกับการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนแนวโน้มปี 58 คาดว่าการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมจะยังขยายตัวได้ทั้งภาคการผลิตและการส่งออก โดยในกลุ่มสิ่งทอ จะเป็นการผลิตเพื่อป้อนสู่ตลาดอาเซียนเป็นส่วนใหญ่
อุตสาหกรรมอาหาร ในภาพรวมการผลิตปี 57 คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 1-3% จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปี 58 คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 0-5% จากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้นและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมไทย ปี 58 คาดว่าจะมีการขยายตัวที่ดีขึ้น จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 58 การฟื้นตัวของการลงทุน การปรับฐานสู่ภาวะปกติของอุตสาหกรรมรถยนต์ปี 57 และการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งทำให้คาดการณ์ในปี 58 GDP อุตสาหกรรมจะขยายตัว 2-3% และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัว 3-4%