ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้นำแนวคิดนาโนไฟแนนซ์ไปหารือร่วมกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ซึ่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ได้เสนอแนวทางในเรื่องดังกล่าว โดยต้องการให้บริษัทที่จะปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์มีความเข็มแข็ง น่าเชื่อถือ และสามารถปล่อยสินเชื่อได้อย่างทั่วถึง มีทุนจดทะเบียนในระดับที่มั่นคง และต้องการให้ ธปท.เข้าไปกำกับดูแล แต่เนื่องจาก ธปท.มีข้อจำกัด จึงต้องการให้ปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าวก่อน
อย่างไรก็ดี ข้อกำหนดการปล่อยสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังจะพิจารณาดูแล รวมถึงการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่จะจูงใจให้บริษัทมาปล่อยสินเชื่อโดยกำหนดเพดานไว้ที่ 36% ต่อปีนั้น การคิดดอกเบี้ยควรจะคำนึงถึงความเหมาะสม หากลูกหนี้มีระเบียบวินัยสามารถผ่อนชำระมีศักยภาพ การคิดดอกเบี้ยที่เต็มเพดาน 36% อาจจะสูงเกินไป และเพดานการปล่อยกู้ 2 แสนบาทต่อราย การแก้ไขเกณฑ์ดังกล่าวก็ครอบคลุมนาโนไฟแนนซ์ที่กำหนดเพดานไว้ 1 แสนบาทต่อราย
"การแก้เกณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลเป็นการหาแนวทางดูแลลูกหนี้นอกระบบทางหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้โครงการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ที่กระทรวงการคลังดำเนินการอยู่ต้องหยุดลงไป เพราะ ธปท.ไม่มีอำนาจในลักษณะนั้น การตัดสินใจทั้งหมดว่าจะดำเนินการอย่างไรขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลัง" นายประสารกล่าว
นายประสาร ได้กล่าวในงานสัมมนา "สหกรณ์ยุคใหม่ ก้าวไกลด้วยข้อมูลเครดิต"ว่า การที่สหกรณ์ออมทรัพย์เข้ามาเป็นสมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโรถือเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากสหกรณ์เป็นผู้ที่มีข้อมูลเครดิตของผู้กู้รายย่อยมากที่สุด โดยปัจจุบันมีสมาชิกสหกรณ์จำนวน 11 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าสินเชื่อ 1.6 ล้านล้านบาท หรือ 10% ของระบบสินเชื่อทั้งหมด แต่การปล่อยกู้ยังมีข้อบกพร่อง 2 เรื่องคือ ปล่อยให้ผู้ที่ไม่สมควรได้ และไม่ปล่อยให้ผู้ที่สมควรได้ ทำให้เกิดความเสียหายและเสียโอกาส
นอกจากนี้ ธปท.ยังมีแนวคิดที่จะดึงธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เข้ามาเป็นสมาชิกเครดิตบูโร ซึ่งปัจจุบันธ.ก.ส.มีลูกค้ารายย่อยที่มีเกษตรถึง 10 ล้านบัญชี ซึ่งหากสามารถทำได้จะช่วยเสริมสร้างกลไกตลาดในการเข้าถึงเงินกู้ของรายย่อยและสร้างคุณภาพหนี้ที่ดีโดยไม่แทรกแซงตลาด แต่ทั้งนี้มองว่าไม่จำเป็นต้องผลักดันสหกรณ์เป็นธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย เพราะสหกรณ์มีจุดแข็งที่เข้าถึงรายย่อยอยู่แล้ว และสามารถบังคับให้ลูกหนี้มีการชำระเงินก่อนเจ้าหนี้รายอื่น จึงไม่มีความเสี่ยงแต่อย่างใด
สำหรับกังวลของสมาคมธนาคารไทยถึงเรื่องของการประกาศใช้ พ.ร.บ.แพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2557 ว่าด้วยการลดภาระของผู้ค้ำประกันนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการจากสมาคมธนาคารไทย แต่ได้มีการหารือกับนายธนาคารแล้ว โดยธปท.กำลังรวบรวมประเด็นปัญหาเพื่อหาวิธีแก้ไขที่ดีที่สุด และแนวทางการแก้ไขต้องมีความสมดุลกับทั้งเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ค้ำประกัน ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถหาทางแก้ไขได้