"ปัจจุบันมีโรงงานที่ขึ้นทะเบียนใช้หม้อน้ำกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนทั้งสิ้น 5,529 แห่ง มีหม้อน้ำรวม 11,312 ลูก และมีปริมาณการใช้พลังงานเชื้อเพลิงรวม 7,700 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ/ปี คิดเป็นมูลค่าต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำรวมประมาณ 144,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งจากผลวิจัยหากติดตั้งระบบควบคุมอัตโนมัติจะช่วยประหยัดเชื้อเพลิงได้มากกว่า 3% และประหยัดไฟฟ้าได้กว่า 10 % ดังนั้นหากสถานประกอบการหันมาใช้ระบบดังกล่าวก็จะช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้าลงได้เป็นอย่างมาก" นายชวลิต กล่าว
ด้านนายอนุชา พรมวังขวา ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า หม้อน้ำเป็นอุปกรณ์สำคัญในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยการนำไอน้ำอุณหภูมิสูงไปใช้ในกระบวนการผลิตอาทิ การปรุงสุก การอบ เป็นต้น ซึ่งโดยปกติหม้อน้ำที่ควบคุมโดยคนนั้นจะมีความคลาดเคลื่อนขาดความแม่นยำในการควบคุมอยู่บ้าง ทำให้หม้อน้ำผลิตไอน้ำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพและเกิดการสูญเสียพลังงานในกระบวนการผลิต ทางโครงการฯ จึงได้คิดค้นระบบควบคุมอัตโนมัติ และพัฒนาจนสามารถทำให้ประสิทธิภาพการผลิตไอน้ำมีค่าสูงสุดอยู่เสมอ
จากการวิจัยพบว่า เมื่อติดตั้งระบบควบคุมอัตโนมัติให้กับผู้ประกอบทั้ง 10 แห่งแล้ว สามารถลดการใช้พลังงานความร้อนและไฟฟ้าในการผลิตลงได้เฉลี่ย/ปีประมาณ 19.51 ตัน เทียบเท่าน้ำมันดิบ/ลูก คิดเป็นค่าใช้จ่ายที่ประหยัดได้เฉลี่ย/ปีประมาณ 330,000 บาท/ลูก รวมเป็นเงินที่ประหยัดได้มูลค่าทั้งสิ้นกว่า 3.3 ล้านบาท/ปี และใช้ระยะเวลาการคืนเงินลงทุนเฉลี่ยประมาณ 1 ปี 5 เดือน ทั้งนี้ผลประหยัดหลังการติดตั้งระบบควบคุมอัตโนมัติจะขึ้นอยู่กับสภาพและขนาดของหม้อน้ำเป็นหลัก
นายอัฒมาส ชนะ ผู้จัดการบริษัท มาเจสติคอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ เป็นโรงงานผลิตอาหารกระป๋องใช้หม้อน้ำขนาด 15 ตัน/ชั่วโมง ผลิตไอน้ำในกระบวนการผลิต โดยมีค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงในการผลิตจากไม้สับประมาณ 3,384,000 บาท/ปี และไฟฟ้าประมาณ 822,000 บาท/ปี ซึ่งหลังจากโครงการฯ ได้เข้ามาติดตั้งระบบควบคุมอัตโนมัติแทนการควบคุมโดยคนแล้ว ทำให้หม้อน้ำมีประสิทธิภาพดีขึ้น สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายของเชื้อเพลิงในการผลิตได้ประมาณ 319,000 บาท/ปี ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตอาหารกระป๋องลดลง และมีกำไรเพิ่มขึ้น