สำหรับแนวทางการบริหารจัดการ แบ่งเป็นมาตรการระยะสั้น และมาตรการระยะกลาง รวมการชดเชยเป็นเงินทั้งสิ้น 2,760 ล้านบาท ดังนี้
มาตรการระยะสั้น คือ การชดเชยดอกเบี้ยเพื่อชะลอการเก็บเกี่ยว โดยให้เกษตรกรกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามหลักเกณฑ์ปกติ ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตั้งแต่ธันวาคม 2557– มีนาคม 2558 เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ไว้ใช้จ่ายระหว่างชะลอการเก็บเกี่ยว โดยภาครัฐชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกรในอัตรา 3% ต่อปี ระยะเวลา 6 เดือน (เริ่มธันวาคม 2557 แต่ไม่เกินกันยายน 2558) วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท เป้าหมายเกษตรกรจำนวน 500,000 ราย วงเงินกู้ 25,000 ล้านบาท
"ชดเชยดอกเบี้ย 3% ให้ ธ.ก.ส.และธนาคารพาณิชย์ รวมการชดเชยเป็นเงินทั้งสิ้น 2,760 ล้านบาท"
สำหรับผู้ประกอบการ ได้เตรียมการเพิ่มสภาพคล่องทางการค้า โดยเตรียมวงเงินกู้เอาไว้ 10,000 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการลานมัน โรงแป้ง โรงงานเอทานอล ผู้ส่งออกกู้เงินจาก ธ.ก.ส.หรือธนาคารพาณิชย์นำไปรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกมาก (ธ.ค.57-ธ.ค.58)
ส่วนมาตรการระยะกลางในการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกในระบบหยดน้ำ เกษตรกรสามารถกู้เงินได้เตรียมวงเงินไว้ 23,000 ล้านบาท หรือรายละ 230,000 บาท จำนวนทั้งสิ้น 100,000 ราย เพื่อเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ลดต้นทุนการเพาะปลูกเฉลี่ยต่อไร่ และบริหารจัดการช่วงระยะเวลาเก็บเกี่ยวไม่ให้กระจุดตัว
สำหรับผู้ประกอบการ ได้เตรียมการยกระดับมาตรฐานการแปรรูปมันสำปะหลัง โดยเตรียมวงเงินไว้ 15,000 ล้านบาท ให้ผู้ประกอบการลานมัน โรงแป้ง โรงงานเอทานอล ผู้ส่งออกใช้เพิ่มประสิทธิภาพการรวบรวม แปรรูป และจัดเก็บผลภัณฑ์มันสำปะหลัง
ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะต้องเป็นผู้พิจารณาและรับผิดชอบความเสี่ยงจากการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ขอกู้เอง