สำหรับธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตรครั้งนี้นับว่าเป็นก้าวสำคัญในหลายๆ มิติของประเทศไทย ธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตรถือเป็นการดำเนินการเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งมีวงเงินการทำธุรกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของตลาดตราสารหนี้ไทย โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรที่กำลังจะครบกำหนดและขยายอายุของพันธบัตร และเสริมสร้างสภาพคล่องในตลาดรองตลอดจนเป็นการปูทางสำหรับการดำเนินธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตรในอนาคต โดยความสำเร็จของธุรกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจากการให้ความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนในการร่วมผลักดันการพัฒนาตลาดตราสารหนี้อย่างต่อเนื่อง และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความเป็นผู้นำของตลาดตราสารหนี้ไทยในภูมิภาค
จากการดำเนินธุรกรรมนี้ รัฐบาลสามารถแลกพันธบัตรสกุลเงินบาทที่มียอดคงค้างซึ่งจะครบกำหนดในเดือนพฤษภาคม 2558 (LB155A) เป็นพันธบัตรสกุลเงินบาทที่มีรุ่นอายุหลากหลายได้แก่ พันธบัตรที่ชำระคืนเงินต้นเพียงครั้งเดียว (Bullet bond) LB176A ครบกำหนดในปี 2560, LB191A ครบกำหนดในปี 2562, LB21DA ครบกำหนดในปี 2564 และพันธบัตรที่ทยอยชำระคืนเงินต้น (Amortizing bond) LBA37DA ครบกำหนดในปี 2580
การดำเนินการดังกล่าวช่วยให้รัฐบาลบรรลุเป้าหมายสองประการ คือลดความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรที่กำลังจะครบกำหนด และเพิ่มสภาพคล่องของพันธบัตรที่นักลงทุนสนใจแลก (Destination bond)
ยอดเสนอแลกพันธบัตรอยู่ที่ 80,732 ล้านบาท จาก 50 กว่าบัญชี ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างสูง โดยเป็นนักลงทุนภายในประเทศ 95% และจากต่างประเทศ 5% อนึ่ง มีนักลงทุนเสนอแลกพันธบัตรมาจากสถาบันการเงิน 63% นักลงทุนระยะยาว 32% และนักลงทุนต่างชาติ (Non-resident) 5%