ในการประชุมครั้งนี้ รัสเซียแสดงความสนใจที่จะซื้อสินค้าเกษตรและอาหารจากไทย และไทยได้เสนอที่จะส่งออกสินค้าอาหาร เช่น ข้าว, เนื้อไก่, ปลา และสินค้าประมงอื่นๆ รวมทั้งสับปะรดให้รัสเซีย โดยรัสเซียได้เสนอให้จัดตั้งคณะทำงาน (Working Group) ที่ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัสเซียและผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมอสโก เพื่ออำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เช่น การแก้ปัญหาเกี่ยวกับมาตรการสุขอนามัยพืชและสัตว์และกฎระเบียบในการนำเข้าของรัสเซีย เพื่อให้ไทยส่งออกสินค้าอาหารมารัสเซียได้มากขึ้น
รวมทั้งสองฝ่ายจะเร่งจัดทำความตกลงความร่วมมือทางวิชาการว่าด้วยการควบคุมความปลอดภัยในการนำเข้าและส่งออกสินค้าสัตว์น้ำ ระหว่างกรมประมงของไทยกับหน่วยงานด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชของรัสเซีย (FSVPS) ของรัสเซีย เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าประมงของไทยไปยังรัสเซียให้มากขึ้น
นางอภิรดี ยังกล่าวด้วยว่า ทั้ง 2 ฝ่ายได้ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างภาคเอกชนของ 2 ประเทศ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลและเป็นการสร้างโอกาสในการขยายการค้าระหว่างกัน โดยในช่วงวันที่ 1-5 ธ.ค.นี้ กลุ่ม OPORA group ของรัสเซีย ซึ่งเป็นหน่วยงานเอกชนที่ส่งเสริมธุรกิจ SMEs ที่รัฐบาลรัสเซียให้การสนับสนุน จะนำผู้แทนจาก 13 บริษัท เดินทางมาประเทศไทยเพื่อพบกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประกอบด้วย ผู้ประกอบการในสาขาอาหาร, พาหนะ, ไฟฟ้า, พลังงาน, ลิฟท์, ยาและเวชภัณฑ์, การศึกษา, ก่อสร้าง และสปา เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและจับคู่ธุรกิจ ซึ่งในโอกาสนี้จะได้เข้าเยี่ยมชมนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครของไทยด้วย
ในด้านการลงทุน ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนให้ภาคเอกชนเพิ่มการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น โดยสาขาที่ไทยผลักดัน ได้แก่ การวิจัยและพัฒนา(R&D), การเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร, เครื่องบิน, ชิ้นส่วนยานยนต์ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และสาขาที่ฝ่ายรัสเซียผลักดัน ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ, อุตสาหกรรมหนัก, การขนส่งทางราง, ยางพารา, อุตสาหกรรมซอฟแวร์, ก่อสร้าง และธนาคาร
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบให้มีกลไกการประสานงานอย่างต่อเนื่องระหว่างกระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจของรัสเซีย กับสถานเอกอัครราชทูตไทย และสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงมอสโก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการเข้ามาลงทุนในไทยและรัสเซีย นอกจากนี้ ฝ่ายรัสเซียเสนอให้มีกลไกหารือในระดับรัฐมนตรีเพื่อหารือด้านการลงทุนระหว่างกัน โดยเฉพาะในประเด็นด้านกฎหมาย และการให้สิทธิพิเศษด้านการลงทุน
ในด้านการท่องเที่ยว ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องให้มีความร่วมมือระหว่างกัน เนื่องจากไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของชาวรัสเซีย โดยมีนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียเข้ามาในไทยมากเป็นอันดับ 2 โดยในปี 2556 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามายังประเทศไทยประมาณ 1.7 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.13 ในการนี้ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งเร่งสรุปแผนการดำเนินงาน (Action Program) เพื่อให้เกิดกิจกรรมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
นอกจากนี้ ไทยและรัสเซียได้หารือในประเด็นความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการค้าและการลงทุน อาทิ ความร่วมมือด้านอัญมณีและเครื่องประดับ, การเงินการธนาคาร, ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม ในโอกาสนี้ ไทยจะเชิญให้รัสเซียเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมยางภายใต้โครงการเมืองยาง (Rubber City) ณ นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดสงขลา โดยนักลงทุนจะได้รับสิทธิพิเศษและการส่งเสริมจาก BOI
สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างไทย-รัสเซียนั้น รัสเซียนับเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) และอันดับที่ 24 ของไทยในตลาดโลก โดยระยะ 5 ปีที่ผ่านมา (2552-2556) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่าเฉลี่ย 4,329 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยในปี 2557 (มกราคม-กันยายน) การค้าระหว่างไทย-รัสเซีย มีมูลค่า 3,827 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 10.27