ทั้งนี้ มองว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าจากขยะได้ถึง 600 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันมีการติดตั้งโรงไฟฟ้าขยะไม่ถึง 100 เมกะวัตต์ ดังนั้น กระทรวงพลังงานจะเอื้อต่อการลงทุนมากขึ้น โดยการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ในวันที่ 15 ธันวาคมนี้ จะพิจารณาปรับราคารับซื้อเชื้อเพลิงจากพลังงานทดแทน
นายณรงค์ชัย กล่าวว่า ปัญหาขยะมูลฝอยทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็วตามการเจริญเติบโตของสังคมเมือง การขยายตัวภาคอุตสาหกรรม และการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของคนยุคใหม่เป็นผลให้ปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มขึ้น โดยในปี 56 พบว่าปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศเท่ากับ 26.77 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่กำจัดแบบไม่ถูกต้อง
แต่หากนำขยะมูลฝอยไปกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบแบบถูกสุขลักษณะ จะมีผลพลอยได้จากกระบวนการนี้คืนกลับมาในรูปของพลังงานก๊าซชีวภาพ ซึ่งมีก๊าซมีเทนเป็นองค์ประกอบหลักที่สามารถนำมาเป็นพลังงานผลิตกระแสไฟฟ้าได้ แม้ขยะดังกล่าวจะได้รับการฝังกลบแบบถูกวิธี แต่การย่อยสลายของอินทรียวัตถุประเภทเศษอาหาร เศษผลไม้ภายใต้สภาวะไร้อากาศ จะก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อนที่มีความรุนแรงมากกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศประมาณ 21-25 เท่า
"ขยะเป็นอีกขุมทรัพย์พลังงานทดแทนที่จะสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานให้กับประเทศได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะการนำไปแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า ทั้งนี้ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 10 ปี กำหนดให้ประเทศไทยเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนให้ได้ร้อยละ 25 ของการใช้พลังงานทั้งหมดภายในปี 64 ซึ่งขยะนับเป็นหนึ่งในแผนดังกล่าว โดยมีเป้าหมายการผลิตพลังงานในรูปของไฟฟ้าจากขยะ จำนวน 400 เมกะวัตต์ สอดคล้องกับนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศโดยเร่งด่วน เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอยตกค้างสะสมที่รอการกำจัดถึง 19.9 ล้านตัน ดังนั้นการนำขยะมูลฝอยมาผลิตเป็นพลังงานนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้" นายอารีพงศ์ กล่าว
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าขยะที่เดินเครื่องและมีการขายไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายแล้ว จำนวน 65 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้เป็นโรงไฟฟ้าจากหลุมฝังกลบขยะถึง 24.5 เมกะวัตต์
ด้านนายโรเบิร์ต ดริสโคล ประธานกลุ่มบริษัท ซินดิคาร์ทุม ซัสเทนเอเบิล รีซอร์สเซส (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทฯ เล็งเห็นถึงศักยภาพหลุมฝังกลบที่มีการฝังกลบขยะรวมมากกว่า 5,500 ตันต่อวัน และก๊าซชีวภาพที่เก็บรวบรวมได้นั้นมีองค์ประกอบของก๊าซมีเทนเฉลี่ยมากกว่า 50% ซึ่งสามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าได้จึงมีการลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพ ขนาด 8 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โรงคือ บริษัท ซีนิท กรีนเอ็นเนอยี จำกัด และบริษัท บางกอก กรีนเพาเวอร์ จำกัด ผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)
สำหรับปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ในขณะนี้มีประมาณ 482,000 MWh เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 1,919,912 ตัน CO2 เทียบเท่า(ตั้งแต่ 2554-2557) โดยเฉลี่ยผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายเดือนละ 10,000 MWh โดย บริษัท ซีนิท กรีน เอ็นเนอยี จำกัด ใช้เงินลงทุนเบื้องต้นรวม 491.28 ล้านบาท ระยะคืนทุน 5.55 ปี บริษัท บางกอก กรีนเพาเวอร์ จำกัด ใช้เงินลงทุนเบื้องต้นรวม 400.77 ล้านบาท ระยะคืนทุน 5.40 ปี