ซึ่งจะเป็นการทำงานแบบบูรณาการ เพื่อส่งเสริมการต่อยอดให้ผู้ประกอบการที่ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ ทั้งนี้ในการเข้าไปช่วยเหลือคลัสเตอร์ต่างๆ จะเป็นการช่วยเหลือครอบคลุมตั้งแต่การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ลดต้นทุน เพิ่มยอดขาย จัดการเรื่องการตลาด รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายด้วย
"ขณะนี้กลุ่มที่มีปัญหาชัดเจน คือคลัสเตอร์ต่อตัวถังรถบัส จ.ราชบุรี ที่ต่อรถบัสให้กับ ขสมก. ซึ่ง ขสมก.ได้มีการปรับสเป็กรถให้มีมาตรฐานตรงกับมาตรฐานสากลมากขึ้น จึงต้องมีการเข้าไปช่วยคลัสเตอร์นี้ให้เข้าสเป็ก ขณะที่กลุ่มยางพารา จ.สุราษฎร์ธานี ก็มีความต้องการเปลี่ยนจากการทำน้ำยางดิบยางพารามาทำถุงมือยาง ซึ่งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)กระทรวงวิทยาศาสตร์ จะต้องนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วย" น.ส.วิมลกานต์ กล่าว
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้สรุปสถานการณ์ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ที่ปัจจุบันพบว่าสถานการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอีมีการฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ขณะที่การส่งออกเริ่มมีสัญญาณในเชิงบวก โดยตัวเลขการส่งออกของกลุ่มเอสเอ็มอี 10 เดือน ขยายตัว 1.6% ที่มูลค่า 5 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ แต่หากคิดในรูปเงินบาท จะขยายตัว 8.5% ที่มูลค่า1.6 ล้านล้านบาท และประเมินว่า GDP ของเอสเอ็มอีทั้งปีอยู่ที่ 0.5 %
ขณะที่พบว่าการยกเลิกประกอบกิจการของเอสเอ็มอีมีน้อยลง และมีการเปิดกิจการเพิ่มขึ้น จึงถือเป็นการส่งสัญญาณว่าเอสเอ็มอีมีความมั่นใจในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการบริโภคภายในประเทศและสถานการณ์ตลาดโลกที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจของบางประเทศในเอเชียก็ฟื้นตัว อันถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี
น.ส.วิมลกานต์ กล่าวว่า ภายหลังจากที่ สสว.ได้ย้ายสังกัดจากกระทรวงอุตสาหกรรมมาอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรีตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อให้มีทิศทางสอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเอสเอ็มอีทั้งประเทศ เพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าสู่ Supply Chain ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืน ซึ่งในที่ประชุมครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ตั้งคณะอนุกรรมการดูแลเรื่องการแก้ไขพระราชบัญญัติของ สสว.
โดยประเด็นการแก้ไข เช่น จากเดิมมีบอร์ดบริหาร แต่เมื่อมีการยกระดับเป็นวาระแห่งชาติแล้ว ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีบอร์ดบริหารหรือไม่ และอาจต้องเป็นบอร์ดใหญ่ เพราะเป็นคณะทำงานแห่งชาติ รวมทั้งไปพิจารณาเรื่องการปรับองค์ประกอบของบอร์ดที่เดิมนั้นมี 25 คน แต่ยังไม่มีผู้แทนภาคเกษตรและไม่มีผู้แทนบางกระทรวงที่มีบทบาทในการส่งเสริมเอสเอ็มอี จึงจะต้องไปพิจารณาว่าองค์ประกอบของบอร์ดตามพระราชบัญญัติควรจะมีจำนวนเท่าไร เป็นต้น
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร ไปศึกษาภาพรวมและพิจารณาประเด็นที่จะต้องขับเคลื่อนเอสเอ็มอีว่าต้องมีประเด็นใดบ้าง เพื่อจะได้ตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้บอร์ดส่งเสริมมารับผิดชอบขับเคลื่อนงานนั้นๆ ซึ่งในประชุม สสว.ได้เสนอตั้งคณะอนุกรรมการด้านประเมินผลและธรรมาภิบาล และคณะอนุกรรรมการขับเคลื่อนกองทุนร่วมลงทุน ที่จะต้องมีสภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยร่วมอยู่ด้วย โดยคาดว่าในเดือนม.ค.58 จะมีข้อเสนอที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ซึ่งงบประมาณสำหรับการร่วมลงทุนกับเอสเอ็มอีขณะนี้ยังมีอยู่ในกองทุนส่งเสริมเอสเอ็มอี ประมาณ 1,700 ล้านบาท