แต่สิ่งที่ต้องจับตาเพิ่มเติมในปีหน้าและค่อนข้างน่าเป็นห่วง คือ เศรษฐกิจของรัสเซียที่อาจเป็นตัวจุดประกายให้ตลาดทั่วโลกต้องช็อคอีกครั้ง เนื่องจากปีหน้ารัสเซียมีหนี้ที่ครบกำหนดต้องชำระเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกัน รัสเซียยังถูกมาตรการคว่ำบาตรจากหลายประเทศด้วย ปัจจัยเหล่านี้อาจจะส่งผลให้ตลาดเงินตลาดทุนโลกต้องผันผวนอีกครั้ง
ทั้งนี้ การที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ของไทยเติบโตได้เพียงปีละ 1-2% ไม่ได้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ถึงปีละ 4-5% แต่จากการที่เศรษฐกิจไทยในระยะ 2 ปีนี้เติบโตได้น้อยกว่าศักยภาพที่แท้จริงนั้นเป็นเพราะเครื่องยนต์หลักสำคัญ 2 ตัวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเกิดสะดุด นั่นคือ ภาคการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนที่ยังติดลบ
ภาคการส่งออกซึ่งเคยทำรายได้ให้กับประเทศคิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของ GDP นั้นจำเป็นต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญ ขณะที่เศรษฐกิจโลกระยะหลังเติบโตได้ไม่ดีนัก ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนเร่งตัวไปล่วงหน้าค่อนข้างมากจากโครงการรถยนต์คันแรกในช่วง 2 ปีก่อน ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ลดต่ำลง จึงส่งผลให้กำลังซื้อและการบริโภคภาคเอกชนไม่เติบโตเท่าที่ควร
"ปัญหาเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่โครงสร้างที่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลกอย่างมาก โดยเฉพาะการส่งออก ส่วนหนึ่งที่ GDP ปีนี้อาจโตได้แค่ 1% เพราะส่งออกแย่ ล่าสุดส่งออก 10 เดือนก็ยังติดลบ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนก็โดนดึงไปจากโครงการรถคันแรกเมื่อ 2 ปีก่อน และราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำลง" นายเอกนิติ กล่าว
พร้อมมองว่า การออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐอาจจะช่วยได้ไม่มากนัก แต่สิ่งที่ภาครัฐจะสามารถช่วยได้ในช่วงระยะเวลาการทำงานอันจำกัดในช่วงประมาณ 1 ปีนั่นคือการช่วยสร้างความมั่นใจให้เกิดกับประชาชน รวมทั้งนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ เช่น การเปิดประมูลโครงการลงทุนก่อสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การมีนโยบายที่แก้ปัญหาเฉพาะจุดและอย่างยั่งยืน เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้ภาคเกษตร และหนี้นอกระบบ ตลอดจนการร่วมวางรากฐานที่ดีทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
ด้านนายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บล.ทรีนีตี้ คาดปีหน้าเศรษฐกิจดีขึ้น โดยจะเติบโต single digit รวมทั้งคาดว่าการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกจะเห็นว่าดีขึ้นในครึ่งหลังปี 58 และคาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยน่าจะไม่ต่ำกว่าระดับ 1,600 จุด
ปัจจัยที่ยังต้องติดตามการปรับลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ตามภาวะเงินเฟ้อลดลงที่ตามราคาน้ำมันปรับตัวลง และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐที่คาดไว้ในช่วงไตรมาส 2 จนถึงครึ่งหลังปี 58 รวมทั้งต้องระวังความเสี่ยง ได้แก่ การเกิดฟองสบู่ตลาดพันธบัตรแต่ละประเทศ ความกังวลเศรษฐกิจรัสเซียจากราคาน้ำมันลดลงมากส่งผลต่อเงินทุนสำรองของรัสเซีย รวมทั้งการเกิดสงครามค่าเงิน
ส่วนสภาพคล่องในตลาดโลกสูงขึ้น มาจากญี่ปุ่นออกมาตรการ QE และกองทุนบำเหน็จบำนาญของญี่ปุ่นลดการถือครองพันธบัตรจากสัดส่วน 60% ลงเหลือ 35% หรือปนะมาณ 2-3แสนล้านเหรียญโดยให้ลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้นทั้งในภูมิภาคและต่างประเทศ นอกจากนี้ คาดว่าสหภาพยุโรป (EU) ก็จะมีมาตรการ QE ซึ่งจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล หรือเม็ดเงินประมาณ 8 แสน-1ล้านยูโร ทั้งนี้จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยและตลาดทุนไทย
อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเห็นความผันผวนของค่าเงิน โดยเงินเยนอ่อนตัวเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และยังคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะต่ำลงจากราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสและเบรนท์ในปีหน้ามีโอกาสปรับตัวลดลง 20-40% จากปีนี้มีราคาเฉลี่ย 90-100 เหรียญ/บาร์เรลมาที่เฉลี่ย 70-75% เหรียญ/บาร์เรล
"อย่างน้อยมั่นใจว่าสภาพคล่องดี ...ทั้งค่าเงินยูโร เยนค่อนข้างต่ำ พันธบัตรไทยจะดึงดูดเม็ดเงิน" นายวิศิษฐ์กล่าว
นายทรงธรรม ปิ่นโต ที่ปรึกษางานด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา "ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2558" ว่า การที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าจะเติบโตได้เพียง 1% นั้น เป็นเพราะสาเหตุในหลายด้าน เช่น ภาวะเศรษฐกิจโลกไม่ดี, ปัญหาการเมืองในช่วงครึ่งปีแรก ที่ทำให้ความเชื่อมั่นต่างชาติลดลง, สินค้าเกษตรทั่วโลกมีราคาตกต่ำ และภาคการท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก
ส่วนกรณีที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2558 จะเติบโตได้ 3.8% ซึ่งถือว่าดีขึ้นจากปีนี้ที่คาดว่าจะโตได้ 3.3% ก็ตาม แต่ก็อยากจะให้เผื่อใจไว้บ้างว่ายังมีโอกาสที่จะ downsize ได้ เนื่องจากในปีหน้าการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะมีทิศทางที่แตกต่างกันไป กล่าวคือ สหรัฐฯ มีแนวโน้มจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากมีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นและยุโรป มีแนวโน้มว่าจะต้องลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเศรษฐกิจภายในยังไม่ได้รับการแก้ไขไปในทิศทางที่ถูกต้อง
นายทรงธรรม มองว่า เศรษฐกิจไทยยังมีพื้นฐานที่ดี เพียงแต่ต้องการทิศทางที่ชัดเจน โดยเศรษฐกิจไทยเข้มแข็งพอที่จะไม่เกิดวิกฤติ เนื่องจากความเสี่ยงยังมีไม่มาก โดยดูจากหนี้ภาคครัวเรือนที่ค่อนข้างทรงตัว, Corporate Balance Sheet ยังอยู่ในเกฑณ์ดี, หนี้ภาครัฐอยู่ในระดับต่ำ แม้จะมีความไม่สมดุลทางด้านรายจ่ายภาคการคลัง แต่ยังมี policy space, นโยบายเศรษฐกิจมหภาคยังมีความยืดหยุ่น
แต่ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยก็ยังไม่เข้มแข็งพอที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากข้อจำกัดเชิงโครงสร้างของภาคการผลิตไทย อาจทำให้การส่งออกฟื้นตัวช้า, โครงสร้างพื้นฐานยังไม่ทันสมัย, คุณภาพและผลิตภาพของแรงงานยังต้องการการพัฒนา และยังขาดการพัฒนาเทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงมองว่าในปี 58 ภาครัฐจะถือว่ามีบทบาทที่สำคัญอย่างมากในการพัฒนาโครงการสำคัญต่างๆ ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาคนให้เป็นรูปธรรม เพื่อเป็นรากฐานและสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชน
"ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยสูญเสียเวลาไปโดยไม่เติบโตจากปัจจัยภายในประเทศ ในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ดังนั้นนับจากนี้เราจำเป็นต้องปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน" นายทรงธรรม กล่าว