ดังนั้นจึงมอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องไปดูว่าความล่าช้าเกิดขึ้นจากขั้นตอนที่ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด หรือเกิดจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งต้องหาให้เจอและแก้ปัญหาให้ตรงจุด และเชื่อมั่นว่าจะสามารถตอบโจทย์ได้ทั้ง 2 กรณีควบคู่กันไป คือ ความรวดเร็วและความละเอียดรอบคอบ เช่น กรณีปัญหายางพาราที่นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานต่อที่ประชุม ครม.หลังจากที่พบกับผู้แทนที่มายื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลวันนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งให้พักเรื่องที่กำลังพิจารณาในที่ประชุม ครม.และให้ฟังรายงานจากนายอำนวยก่อน
โดยนายอำนวย ได้รายงานต่อที่ประชุมครม.ว่า ชาวสวนยางมีความเข้าใจและมีความต้องการปรับสัดส่วนให้มีส่วนในการแก้ปัญหา ซึ่งตรงกับความต้องการของรัฐบาลที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา และพยายามอธิบายถึงพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีกระแสข่าวว่าชาวสวนยางไม่พึงพอใจในกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งได้มีการอธิบายให้ฟังแล้วว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวดีกว่า พ.ร.บ.ฉบับเดิม เพราะฉบับเดิมมีองค์กรเกี่ยวข้องถึง 3 องค์กร การจะประชุมให้ได้มติต้องใช้เวลานาน แต่พ.ร.บ.ฉบับนี้มีเพียงองค์กรเดียวที่ดูแลบริหารจัดการทั้งระบบ ซึ่งชาวสวนยางก็เข้าใจ
ส่วนการจ่ายเงินก็น่าจะเร็วขึ้น เพราะเคยมีการลงทะเบียนไว้ก่อนแล้วสามารถรับเงินได้เลย และค่อยตรวจสอบในภายหลังได้ ส่วนที่ต้องตรวจสอบก่อนอย่างละเอียดคือผู้ที่ลงทะเบียนใหม่ ซึ่งเกษตรกรชาวสวนยางมี 8.6 แสนราย และมีบัญชีอยู่แล้ว 8 แสนราย การจ่ายเงินจึงจะเร็วขึ้น
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กำชับว่าจะต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกรว่าการดำเนินการมีความก้าวหน้าไปแค่ไหนแล้ว ส่วนเรื่องราคายางพารานั้นก็ต้องทำความเข้าใจ เพราะราคาขึ้นอยู่กับชนิดของยางด้วย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้สอบถามม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ว่าการสนับสนุนโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางได้ดำเนินการถึงขั้นตอนใดแล้ว ซึ่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า มีความก้าวหน้าแล้ว โดยมีโรงงานที่จังหวัดระนอง 1 แห่ง และมีการแสดงความจำนงค์จากต่างประเทศจำนวน 9-10 โรงงาน ซึ่งเชื่อว่าจะดำเนินการได้ภายในปีหน้า และจะทำให้เกษตรกรมีความเชื่อมั่นว่าจะมีกำลังซื้อมากขึ้น ประกอบกับรัฐบาลยืนยันว่าเม็ดเงินที่มีอยู่พร้อมที่ซื้อเพื่อให้ได้ราคายางอยู่ที่ระดับ 60 บาท/กก. ให้เร็วที่สุด