ทั้งนี้ สศอ. ได้เสนอ 3 แนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาวิกฤตราคายางพาราตกต่ำและพัฒนาอุตสาหกรรมระยะยาวของยางพาราไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย การแก้ปัญหาวัตถุดิบล้นตลาด การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และ การพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราทั้งระบบ เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานยางพาราในตลาด ทำให้ราคาลดความผันผวนและมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยมาตรการต่างๆ ดังกล่าว จะทำให้สามารถเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศประมาณ 5 แสนตันและเพิ่มผลิตภาพของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง เช่น ถุงมือยาง ยางล้อ ยางยืดอีกด้วย
มาตรการแรก ได้แก่ การแก้ปัญหาวัตถุดิบล้นตลาด จัดทำโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง วงเงิน 10,000 ล้านบาท จากในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2557 – เมษายน 2558 เป็นช่วงที่ผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดมาก จึงอาจส่งผลกระทบให้ราคายางลดต่ำลง
ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยางวงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางขั้นกลาง โดยสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการแปรรูปน้ำยางข้นใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการซื้อยางส่วนเกินออกจากระบบ ในช่วงต้นฤดูที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก
โดยอัตราดอกเบี้ย ผู้กู้จะชำระดอกเบี้ยเท่ากับอัตรา 2% และรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% ซึ่งจะมีธนาคาร 6 แห่งร่วมปล่อยสินเชื่อคือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารทหารไทย และ ธนาคารธนชาต แต่ในแง่ของดอกเบี้ยที่จะต้องชดเชยจะมีเพียงธนาคารกรุงไทยที่จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้ ซึ่งธนาคารกรุวไทยจะต้องตั้งงบประมาณเพื่อนำมาจ่ายชดเชย 3% ซึ่งคาดว่าจะอยู่ประมาณ 300 ล้านบาท โดยใช้เงินทุนสภาพคล่องของธนาคารมาจ่ายไปก่อน
ซึ่งการใช้เงินลงทุน 10,000 ล้านบาท ตามโครงการฯ คาดว่าจะทำให้สามารถดูดซับปริมาณยางที่จะเข้าสู่ระบบได้ประมาณ 200,000 ตัน ซึ่งจะส่งผลให้ราคายางเพิ่มขึ้นทันที ประมาณ 2-3 บาท/กก. และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายคือ 66 บาท/กก. ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยางมีความเป็นอยู่ดีขึ้น
"เรื่องนี้กระทรวงอุตสาหกรรมโดย สศอ.ได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา และครม.ก็ได้อนุมัติแล้ว จึงสามารถดำเนินการได้ทันที"นายอุดม กล่าว
มาตรการที่สอง การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยมี การส่งเสริมให้มีการเพิ่มใช้ยางพาราในประเทศ ซึ่งเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง โดยการดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางเพื่อขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต วงเงิน 15,000 ล้านบาท มีเงื่อนไขว่าผู้กู้จะต้องเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในประเทศไทย และมีผู้ถือหุ้นที่เป็นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 50% ขึ้นไป ซึ่งผู้ประกอบการที่อยู่ในข่ายกู้ได้ เช่น ผู้ประกอบการยางล้อรถยนต์ ถุงมือยาง ถุงมือแพทย์ ยางยืด ยางประเภทอื่นๆ ที่ใช้ในเชิงวิศวกรรมต่างๆ ยางขอบประตู ยางสายพาน
กำหนดระยะเวลาในการกู้ไม่เกิน 10 ปี ชำระดอกเบี้ยเท่ากับอัตรา 2% และรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% ซึ่งหน่วยงานรับผิดชอบ คือ กระทรวงอุตสาหกรรมและธนาคารออมสิน โดยธนาคารออมสินจะพิจารณาความคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ประกอบการแต่ละราย และจะส่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม พิจารณาและรับรองความเหมาะสมของเครื่องจักรที่ใช้ในโครงการนี้ เพื่อประกอบการอนุมัติสินเชื่อของธนาคารออมสิน ซึ่งจะช่วยให้ดูดซับยางพารางได้ 300,000 ตัน คาดว่าธนาคารออมสินจะต้องเตรียบงบประมาณในการชดเชยดอกเบี้ยประมาณ 4.5 พันล้านบาท
"ปัญหาที่เกิดขึ้นกับยางพาราตอนนี้คือซัพพลายมากกว่าดีมานด์ โดยไทยผลิตยางธรรมชาติได้มากที่สุดในโลก โดยผลิตได้ 4.17 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้เป็นการส่งออกยางแปรรูปเบื้องต้นประมาณ 88% และมาใช้ในประเทศเป็นวัตถุดิบในประเทศเพียงแค่ 12% หรือคิดเป็นปริมาณ 5.2 แสนตันต่อปีเท่านั้น แต่หากเดินหน้ามาตรการที่ 1 และ 2 ได้จะสามารถเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศได้อีก 5 แสนตัน เป็น 1 ล้านตัน"นายอุดม กล่าว
นายอุดม กล่าวต่อว่า การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยาง คือ ส่งเสริมการลงทุนใหม่ในอุตสาหกรรมแปรรูปขั้นต้น กลางน้ำ ปลายน้ำ และเร่งผลักดัน การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางพารา ภายใต้แนวคิดโครงการเมืองยาง (Rubber City) ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางพาราในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รับผิดชอบดำเนินการจัดตั้งและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมยางพารา ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา พื้นที่ประมาณ 1,197 ไร่ โดยปัจจุบันอยู่ในระหว่างการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบนิคมอุตสาหกรรมยางพารา ซึ่งระยะเวลาในการดำเนินการศึกษาฯ จะเสร็จประมาณเดือนพฤษภาคม 2558
และการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา มีการดำเนินการสนับสนุนการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานวิจัยโดยการดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางพาราภายใต้เครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานวิจัย มาตั้งแต่ปี 2556-2557 โดยเครือข่ายฯ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัย และหน่วยงานให้ทุนวิจัย เพื่อให้เกิดงานวิจัยที่สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางจะส่งผลให้เกิดการสร้างสรรค์งานวิจัยที่ตรงกับความต้องการของตลาดและนำไป ใช้ได้ในเชิงพาณิชย์ โดยในปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายซึ่งประกอบด้วย ผู้ประกอบการ นักวิจัย สถาบันการศึกษา ประมาณ 173 ราย