"ปี 58 ถือเป็นเวลาที่ประเทศไทยจะต้องขับเคลื่อน มิฉะนั้นจะพลาดโอกาสหรืออาจจะรับมือกับความท้าทายจากเศรษฐกิจโลกได้ไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายภาคส่วน"
รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของกระทรวงพาณิชย์นั้น แบ่งการขับเคลื่อนออกเป็น 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย การเร่งใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ผ่านยุทธศาตร์การส่งเสริมการค้าชายแดน และค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเน้นการผลักดัน Investment for Trade และการพัฒนาเมืองหน้าด่านเมืองคู่แฝด และเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษ
โดยเราให้ความสำคัญกับตลาดใกล้ตัวก่อนคือการมองตลาดการค้าชายแดน และการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเรามีความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์อยู่ ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญแรกของเราจะเป็นเรื่อง Investment For Trade หรือการลงทุนเพื่อกระตุ้นการค้าหมายถึงไม่เพียงแต่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่เราจะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อกระตุ้นให้เกิดการค้าระหว่างกันในระยะยาว และเป้าหมายสำคัญประการที่สองของเราคือการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมืองหน้าด่าน และเมืองคู่แฝด เชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของการเจริญเติบโตด้านการค้าการลงทุนระยะยาว ที่รัฐบาลไทยได้กำหนดแล้ว
ทั้งนี้ คาดหวังว่ามูลค่าการค้าชายแดน และผ่านแดนจะขยายตัวจากประมาณ 1 ล้านล้านบาทในปีนี้ เป็น 1.5 ล้านล้านบาทในปีหน้า
การเร่งสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการและวิสาหกิจผลักดันยุทธศาสตร์กลุ่มธุรกิจเชื่อมโยง (Cluster Driven) โดยจะอาศัยกลุ่มธุรกิจใหญ่ร่วมมือเปิดทาง SME ที่เป็นคู่ค้า เข้าสู่ตลาด ASEAN และตลาดใหม่ๆ ไปพร้อมๆ กัน โดยเบื้องต้นได้มีการหารือกับกลุ่มผู้ผลิต และผู้ประกอบการค้าปลีกบางรายในการกำหนดยุทธศาสตร์หลัก 4 ด้านเพื่อเริ่มดำเนินการแล้ว ได้แก่ การพัฒนาระบบการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ, การสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ, การสร้างระบบการบริหารจัดการ และ การส่งเสริมให้มีการนำดิจิตัลเทคโนโลยีมาใช้ประกอบธุรกิจและสร้างช่องทางขายใหม่ๆ
นอกจากยุทธศาสตร์ข้างต้นแล้ว ทางกระทรวงพาณิชย์กำลังดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาว เพื่อสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศโดยมีแผนปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อวางรากฐานในระยะยาว สู่สังคมที่มีโครงสร้างการผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มสูง สู่ภาคบริการ และสู่ Trading Nation
และ การผลักดันให้เกิดสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ไทยน่าดึงดูดเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนใน ASEAN (โดยเร่งปรับปรุงเรื่องEase of Doing Businessเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และเร่งปฏิรูปโครงสร้างการผลิตและการค้า)
ที่ผ่านมาเราได้ได้ดำเนินการด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าโดยพัฒนาระบบ e-Registration ระบบ e-filing ระบบ MOC Single Point Service ปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัยและเอื้อต่อศักยภาพในการแข่งขัน (อยู่ในขั้นตอนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ 5 ฉบับ ขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา 7 ฉบับ เสนอเข้าครม. 2 ฉบับ อยู่ระหว่างยกร่าง 5 ฉบับ ตลอดจนพัฒนาระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ลดระยะเวลาการจดทะเบียนสิทธิบัตรและเครื่องหมายทางการค้า
"รัฐบาลจะใช้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและการค้าชายแดนให้เป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเขตเศรษฐกิจพิเศษจะถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางเป็นตัวเร่งความเจริญเติบโตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค"
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ ขอเสนอให้ภาคเอกชนมาร่วมเป็นหุ้นส่วน (Partner) ใน 3 เรื่องสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Post AEC 2015ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและการค้าชายแดน หุ้นส่วนที่สอง ได้แก่ หุ้นส่วนเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย และหุ้นส่วนเพื่อการขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศสู่เวทีโลก โดยใช้ ASEAN เป็นฐานการผลิต