ทั้งนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) มีนโยบายและมาตรการที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรมสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี นโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่ชายแดนภาคใต้ การส่งเสริมกิจการหรือบริการเพื่อรองรับการพัฒนา Digital Economy และการให้ส่งเสริมกิจการที่พัฒนาจากทรัพยากรในประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าเกษตร รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานจากวัสดุเหลือใช้และขยะ
โดยยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนมีความสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับการกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจการลงทุน ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ขยายตัวเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ ให้สามารถแข่งขันกับทั่วโลกได้มากขึ้น
ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "การสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ" ว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจให้มุ่งไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะ เทคโนโลยี นวัตกรรม และอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งใช้ความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ซึ่งรวมถึงกิจการที่เกี่ยวข้องหรือรองรับกับเศรษฐกิจดิจิทัล
นอกจากนี้ ประเทศไทยควรจะเพิ่มช่องทางและกิจกรรมทางการค้า ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมและมีศักยภาพเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และรัฐบาลพร้อมสนับสนุนและให้ความสำคัญในการดึงดูดบริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ(International Headquarter:IHQ) บริษัทการค้าระหว่างประเทศ(International Trading Centers:ITC) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าและบริการในภูมิภาค
ทั้งนี้จะต้องมีมาตรการในการดึงดูดให้นักธุรกิจเข้ามาตั้งกิจการดังกล่าวในไทย โดยรัฐบาลอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงระบบราชการ กฎหมาย และกฎระเบียบต่างๆ รวมถึงการแก้ไขประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวกับกระทรวงการคลัง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในเดือนมกราคม 2558
ด้านนางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า การส่งเสริมการลงทุนภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่จะยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ตามเขตที่ตั้ง เหลือเฉพาะพื้นที่ทีมีรายได้ต่อหัวต่ำใน 20 จังหวัดเท่านั้น ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มอีก 3 ปี จากสิทธิพื้นฐานตามประเภทอุตสาหกรรม
โดยประเภทกิจการที่จะให้ส่งเสริมยังมีจำนวนใกล้เคียงกับประเภทกิจการที่ให้ส่งเสริมในปัจจุบันประมาณ 200 กว่าประเภทกิจการ แต่จะแบ่งออกเป็นกิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้นิติบุคคล ประมาณ 180 กิจการ อีกประมาณ 50 กิจการจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านอากรนำเข้าเครื่องจักร วัตถุดิบ และสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี โดยมีการประกาศรายชื่อประเภทกิจการที่จะให้ส่งเสริมในเว็บไซต์บีโอไอแล้ว
สำหรับการมีผลบังคับใช้สำหรับนโยบายใหม่นี้จะเริ่มใช้สำหรับโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2558 บีโอไอจะเดินสายจัดสัมมนาทำความเข้าใจเรื่องยุทธศาสตร์ใหม่ 4 ภาค ทั่วประเทศ เพื่อให้นักลงทุนไทยและต่างประเทศในพื้นที่ได้รับทราบรายละเอียด ขณะเดียวกันก็จะมีการจัดกิจกรรมสัมมนาชี้แจงนักลงทุนต่างชาติในต่างประเทศด้วย