พาณิชย์ผนึกเอกชนรุกตลาดย่างกุ้ง-มะริด เพิ่มส่วนแบ่งตลาดส่งออกในพม่า

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 15, 2014 16:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการเดินทางเพื่อกระชับความสัมพันธ์ และขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนระหว่างนักธุรกิจไทยและเมียนมาร์(ย่างกุ้ง และมะริด) ระหว่างวันที่ 14-18 ธ.ค.นี้ ตามนโยบายของ รมว.พาณิชย์ ในการขับเคลื่อนการส่งออกและยุทธศาสตร์กระทรวงพาณิชย์การใช้อาเซียนเป็นฐานไปสู่เวทีโลกเพื่อใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบเชิงที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ในภูมิภาคของไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนในอาเซียนและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรและตลาดของอาเซียนเป็นฐานสู่เวทีโลก
"การเดินทางในครั้งนี้ ได้ร่วมกับเอกชน 15 ราย อาทิ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย สมาคมบริหารโรงแรมไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นต้น โดยมีกำหนดการสำคัญเข้าพบ รมว.พาณิชย์เมียนมาร์, หารือระหว่างผู้ประกอบการไทยและเมียนมาร์, หารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลลู่ทางการค้าการลงทุน ณ ด่านสิงขร-มูด่อง เขตนิคมอุตสาหกรรมชายแดน ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าและพลังงานทดแทน เยี่ยมชมฟาร์มเพาะเลี้ยง ล็อบสเตอร์และปูนิ่ม รวมถึงโรงงานอู่ต่อเรือ เยี่ยมชมธุรกิจในเมืองมะริด เช่น โรงงานแปรรูปไม้ยาง (นักธุรกิจอินเดีย) เยี่ยมชมธุรกิจนักธุรกิจรายใหญ่ของมะริด เช่น ฟาร์มไก่ไข่ เป็นต้น"นางนันทวัลย์ กล่าว

แผนในการรุกตลาดในปีงบประมาณ 58 กรมฯ ได้บูรณาการกับภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ พร้อมด้วยภาคเอกชนในการดำเนินกิจกรรม 7 โครงการ อาทิ นำคณะผู้แทนการค้าสำรวจจุดผ่อนปรนทางการค้าด่านสิงขร (ประจวบคีรีขันธ์), การจัดคณะผู้แทนการค้าไปเจรจาการค้า และสำรวจแหล่งวัตถุดิบอัญมณีในประเทศพม่า ร่วมงานแสดงสินค้าไทยแลนด์วีค ณ ย่างกุ้ง กับเมืองมัณฑะเลย์, จัดคณะผู้แทนการค้าสินค้ารถบรรทุกและชิ้นส่วนเยือน CLMV, จัดคณะผู้แทนการค้าสินค้าอุตสาหกรรมหนักไปเจรจาการค้าที่ภูมิภาค CLMV และจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าไทยร่วมกับห้างฯ 6 แห่ง

สำหรับข้อมูลการลงทุนของบริษัทไทยในเมียนมาร์จากข้อมูลล่าสุด(30 ก.ย.57) ประเทศไทยลงทุนในเมียนมาร์มูลค่า 3,102 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 7.1% จากยอดการลงทุนจากต่างประเทศ(FDI)ทั้งหมดในเมียนมาร์(43,682 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยกลุ่มธุรกิจที่ไทยเข้าไปลงทุนมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ(70%) อุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ (18%) โรงแรมและท่องเที่ยว(8%) หากแบ่งตลาดการลงทุนตามธุรกิจ เช่น ร้านอาหารไทย 13 บริษัท ธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหาร 12 บริษัท ธุรกิจการค้า(นำเข้าและส่งออก)12 บริษัท ธุรกิจก่อสร้าง 11 บริษัท ธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีและสื่อสารสารสนเทศ 10 บริษัท ธุรกิจเกี่ยวกับแฟชั่น ความสวยความงาม 9 บริษัท เป็นต้น รวมบริษัทไทยขนาดใหญ่ในแต่ละกลุ่มธุรกิจประมาณ 118 บริษัท

นางนันทวัลย์ กล่าวว่า เมียนมาร์มีประชากรกว่า 51 ล้านคน มี GDP 56.759 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีการขยายตัวของ GDP 7.8% ความสำเร็จในการเปิดประเทศ ทำให้มีแผนการเปิดด่านถาวร ไทย-เมียนมาร์เพิ่มขึ้น ทำให้มีข้อได้เปรียบของสินค้าไทยด้านต้นทุนค่าขนส่ง เมียนมาร์จึงเป็นตลาดหนึ่งที่มีศักยภาพและโอกาสสำหรับสินค้าไทย กลยุทธ์การเจาะตลาดนั้น ผู้ประกอบการควรเริ่มเข้าสู่ตลาดด้วยวิธีการหาตัวแทนที่มีสัญชาติเมียนมาร์ และบุคคลที่ไว้ใจได้มาร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจ/หรือเชื่อมโยงกับผู้ผลิตและผู้ค้ารายใหญ่ที่เข้าไปขยายธุรกิจแล้ว ขายส่งสินค้าให้กับธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ที่เปิดธุรกิจในพม่า สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคควรเข้าไปเจาะตลาดห้างสรรพสินค้าของเมียนมาร์ซึ่งจะเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้ดีที่สุด

สินค้าที่ไทยมีศักยภาพสูงจะอยู่ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคในการดำรงชีวิตประจำวัน ได้แก่ อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่ม ตลอดจนขนมขบเคี้ยวต่างๆ ซึ่งสินค้าไทยค่อนข้างได้รับความเชื่อถือในเรื่องคุณภาพในตลาดเมียนมาร์กลุ่มเครื่องจักรกลการเกษตร ตลาดรถยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์อะไหล่ทดแทน รถยนต์ที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นรถยนต์มือสอง สินค้ากลุ่มวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์จักรกลการก่อสร้าง เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ