ดังนั้นภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะยังคงชะลอตัว และคาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะมีโอกาสขยายตัวได้ร้อย ละ 0-1%
สำหรับสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจของไทยปี 2558 คาดว่าจะมีแนวโน้มที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน ทั้งนี้ เนื่องจาก สมาชิกหอการค้าไทยเชื่อว่าการลงทุนของภาครัฐบาลจะมีเม็ดเงินลงทุนในพื้นที่จำนวนมาก ประกอบกับนักท่องเที่ยวน่าจะมีแนวโน้มของการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นรวมทั้งสถานการณ์ การบริโภคของ ภาคเอกชนที่มีโอกาสขยายตัวจากการฟื้นตัวขึ้นของภาวะเศรษฐกิจ
ปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปี 2558 คือ ภาคเกษตร ที่ระดับราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าว ยางพารา และ ปาล์มน้ำมันที่ยังคงมีระดับราคาทรงตัวอยู่ในระดับที่ต่ำจากแนวโน้มสถานการณ์ความต้องการของโลกที่ชะลอตัวลง ประกอบกับผลผลิตของประเทศไทยที่มีจำนวนมากกว่าความต้องการ
นอกจากนั้นแล้ว ทางสมาชิกหอการค้าไทยเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยน่าจะมีการฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 2 ของ ปี ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2558 มีโอกาสขยายตัวได้ 4 -5% โดยเฉลี่ยประมาณ 4.5% ส่วนการส่งออกอาจมีอัตราการขยายตัวได้ 4-5% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการขยายตัวของการส่งออกในภูมิภาคอาเซียนเป็นสำคัญ
นายอิสระ กล่าวถึงผลกระทบของราคาน้ำมันที่ปรับลดลงว่า โครงสร้างการใช้น้ำมันของประเทศไทย โดยเฉลี่ยประเทศ ไทยมีการใช้น้ำมันเบนซิน(รวมกับโซฮอลต่างๆ) ประมาณ 22 ล้านลิตรต่อวัน และน้ำมันดีเซลเฉลี่ยประมาณ 55 ล้านลิตรต่อเดือน เมื่อพิจารณาระดับราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง จะพบว่าราคาน้ำมันสูงสุดในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยราคาแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 อยู่ที่ 41.53 และ 38.08 บาทต่อลิตร และในปัจจุบัน ณ เดือนธันวาคมราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ 30.30 และ 28.29 บาทต่อลิตร ซึ่งหากพิจารณาแล้วจะเห็นว่าระดับราคาน้ำมันปรับตัวลดลงถึง 11 และ 9 บาท ส่วนทางด้าน น้ำมันดีเซลนั้นพบว่าปรับตัวลดลงจากระดับราคา 29.99 บาทต่อลิตร อยู่ที่ 26 บาทต่อลิตร โดยเป็นการปรับตัวลดลง 2 -3 บาทต่อลิตร
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงในแต่ละช่วงจนถึงปัจจุบันนั้น ทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจประหยัดเงินได้ ประมาณเดือนละ 12,210 ล้านบาท (หรือปีละ 146,500 ล้านบาท) ซึ่งเชื่อว่าเมื่อประชาชนมีการประหยัดจากระดับราคาที่ปรับตัว ลดลงย่อมที่จะส่งผลให้การบริโภคของประชาชนน่าจะมีโอกาสปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้ และหากระดับราคาน้ำมันยังคงอยู่ในระดับนี้ในปีหน้า จะช่วยกระตุ้นให้ GDP เพิ่มสูงขึ้นได้ประมาณ 0.7-1% ประเมินเทียบกับช่วงที่มีระดับราคาน้ำมันสูงสุดในเดือนพฤษภาคม
ทั้งนี้ ระดับราคาน้ำมันยังคงปรับตัวลดลง จะมีผลให้ต้นทุนของการผลิตและการขนส่งนั้นมีการปรับตัวลดลงได้ ซึ่งจะช่วยชะลอการปรับตัวของราคาสินค้าได้ โดยเบื้องต้นคาดว่าต้นทุนของภาคธุรกิจจะปรับตัวลดลงได้ โดยเฉพาะต้นทุนโลจิสติกส์ที่ปัจจุบัน ปี 2556 มีมูลค่ารวม 1,764 พันล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 14.4 ของ GDP โดยเป็นต้นทุนการขนส่งประมาณ 51.5% ดังนั้น หากสมมติว่าระดับราคาน้ำมันยังคงทรงตัวอยู่ในระดับนี้ 1 ปี จะทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ ซึ่งคิดเฉพาะส่วนของน้ำมันดีเซลที่ลดลงเดือนละประมาณ 4,950 ล้านบาท หรือ 59,600 ล้านบาทต่อปี ลดลงได้ประมาณ 3%-3.5%ของต้นทุนโลจิสติกส์ และจะส่งผลให้ GDP เพิ่มสูงขึ้นได้ประมาณ 0.5-0.8%
การที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าพลังงานรายใหญ่มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ในทางกลับกันจะส่งผลทำให้กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันมีรายได้ลดลง โดยประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอื่นๆ ที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมันในสัดส่วนที่สูง มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาต่อเศรษฐกิจ หรือเกิดผลกระทบกับสถาบันการเงินในประเทศนั้นๆ และกระทบต่อเนื่องไปยังประเทศอื่นๆ ได้ อีกทั้งราคาน้ำมันที่ลดลงจะส่งผลกระทบต่อการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน ไม่ว่าจะเป็นเอทานอลหรือไบโอดีเซลซึ่งมีต้นทุนแพงเมื่อเทียบกับน้ำมัน ซึ่งจะทำให้แข่งขันยากขึ้น ส่งผลให้นโยบายการพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศไม่เป็นไปตามเป้าหมายได้
ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องให้ความสำคัญในการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีส่วนในการช่วยพยุงราคาสินค้าเกษตรได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นมันสำปะหลัง อ้อย หรือปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล และไบโอดีเซล รวมถึงเพื่อที่จะให้อุตสาหกรรมผลิตพลังงานทดแทนยังคงอยู่ได้จนกว่าราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นอีก ซึ่งระดับราคาน้ำมันที่ลดลงโดยสรุปแล้วน่าจะส่งผลดีกับเศรษฐกิจของประเทศไทย
นายอิสระ กล่าวต่อว่า ขณะนี้หอการค้าไทยได้แนะนำสมาชิกและธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก(เอสเอ็มอี) ให้เร่งจัดทำแผนรับมือและการสร้างโอกาสในช่วงที่ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับลดลงอย่างมาก รวมถึงรับมือผลพวงจากตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลดลง เพราะมีหลายธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ หากไม่มีแผนรับมืออาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจได้
สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนัก เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับท่องเที่ยวและร้านอาหาร และการส่งออกสินค้าในตลาดบางประเทศ เพราะผู้บริโภคหลายประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีรายได้จากตลาดหุ้นและน้ำมัน เช่นตะวันออกลาง ลาตินอเมริกา รัสเซียและซีไอเอส เช่น อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน เบลารุส คาซัคสถาน คีร์กิสถาน เป็นต้น มีกำลังซื้อลดลงมาก โดยควรทำตลาดอาเซียนเป็นหลัก เพราะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า ส่วนกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลดีส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผลิตสินค้าขายในประเทศ เพราะต้นทุนผลิตสินค้าและการขนส่งลดลงมาก