วันนี้คาดว่าเงินบาทจะแกว่งอยู่ในกรอบแคบ เนื่องจากทั้งผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทยวานนี้ และล่าสุดผลการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐ(FOMC) ออกมาคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในประดับเดิม ขณะที่วันนี้ยังไม่มีปัจจัยใหม่ที่จะมีผลต่อตลาดเงินเท่าใดนัก เป็นเพียงการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจประจำสัปดาห์
"วันนี้น่าจะนิ่งๆ ปัจจัยสำคัญน่าจะไปเมื่อวานหมดแล้ว ทั้ง กนง. และ FOMC วันนี้คงเหลือเป็นการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจทั่วๆ ไปของสหรัฐ" นักบริหารเงิน ระบุ
นักบริหารเงิน คาดว่าวันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 32.85-33.05 บาท/ดอลลาร์
- ปัจจัยสำคัญ
- เปิดตลาดเช้านี้ เงินเยนอยู่ที่ระดับ 118.72 เยน/ดอลลาร์ จากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 117.12 เยน/ดอลลาร์
- ส่วนเงินยูโรเช้านี้อยู่ที่ระดับ 1.2338 ดอลลาร์/ยูโร จากช่วงเย็นวานนี้ที่ระดับ 1.2560 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 32.9960 บาท/ดอลลาร์
- "บีโอไอ" ลุ้นยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนปี 2557 แตะระดับ 8 แสนล้านบาท หลัง 11 เดือน ปีนี้เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ทะลุ 7.6 แสนล้านบาทแล้ว
- นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "มองเศรษฐกิจ CLMV อย่าง ดร.ทนง" ในงานสัมมนาถอดรหัสลับการลงทุนอสังหาฯและโครงสร้างพื้นฐานในซีแอลเอ็มวี ซึ่งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดขึ้น ว่า ไทยควรมองโอกาสขยายการลงทุนในกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (ซีแอลเอ็มวี) เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึง 6-8% ต่อปี ซึ่งประเทศเหล่านี้ต้องเร่งลงทุน จึงจำเป็นต้องมีการลงทุนต่างประเทศเข้ามาช่วยขับเคลื่อน
- ดอลลาร์สหรัฐปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบสกุลเงินหลักอื่นๆเมื่อคืนนี้ (17 ธ.ค.) เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ไม่ได้ให้คำมั่นเกี่ยวกับการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ใกล้ระดับ 0% "เป็นระยะเวลานาน" ในการส่งสัญญาณชี้นำเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ซึ่งหนุนกระแสคาดการณ์ของตลาดที่ว่าเฟดมีแนวโน้มมากขึ้นที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ย
- นางเจเน็ต เยลเลน ประธานเฟดกล่าวในการแถลงข่าวหลังการประชุมว่า เฟดไม่มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมนโยบาย 2-3 ครั้งหน้าเป็นอย่างน้อยที่สุด โดยกล่าวเสริมว่า "ช่วงเวลาในการเริ่มปรับเพิ่มเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟด รวมทั้งแนวทางสำหรับเป้าหมายหลังจากนั้น จะขึ้นอยู่กับภาวะทางเศรษฐกิจ"
- กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนพ.ย. ลดลง 0.3% จากเดือนต.ค. อันเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนี CPI ลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค.2551
- สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดบวกเมื่อคืนนี้ หลังจากสำนักงานสารสนเทศด้านรพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐปรับตัวลดลงในรอบสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งช่วยให้นักลงทุนคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานที่มีอยู่มากเกินไป
โดยสัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนม.ค.เพิ่มขึ้น 54 เซนต์ ปิดที่ 56.47 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนม.ค.เพิ่มขึ้น 1.17 ดอลลาร์ ปิดที่ 61.18 ดอลลาร์/บาร์เรล