แม้ว่าแนวทางการปรับโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตและเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันชนิดอื่น จะยังคงต้องรอข้อสรุปที่แน่ชัดจากภาครัฐในระยะต่อไป แต่หากประเมินภาพในเบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองต่อประเด็นการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยสรุปดังนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่อยู่ในขาลงมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/2557 และคาดว่าจะมีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องเมื่อเข้าสู่ปี 2558 อย่างน้อยก็ในช่วงครึ่งปีแรก เอื้อต่อแผนการปรับโครงสร้างราคาพลังงานในประเทศของภาครัฐในลักษณะที่ไม่เป็นการเพิ่มภาระต้นทุนให้กับภาคครัวเรือนและธุรกิจ หลังจากในระยะที่ผ่านมา ภาครัฐได้มีการขยับราคาก๊าซ LPG สำหรับทั้ง 3 ภาค (อุตสาหกรรม ขนส่ง และครัวเรือน) จนกระทั่งราคามาอยู่เท่ากันที่ระดับ 24.16 บาท/กิโลกรัมตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน อันทำให้แผนการปรับโครงสร้างฯ มีความก้าวหน้าในระดับหนึ่ง และส่วนที่สำคัญน่าจะยังเหลือเพียงการปรับระดับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตและเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันแต่ละประเภทในอัตราที่ควรจะเป็น ซึ่งจะมีผลต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ และประเด็นการจัดการเกี่ยวกับก๊าซ NGV ทั้งการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตและการปรับราคาให้สะท้อนต้นทุน
ทั้งนี้ ประเมินว่าผลรวมของอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในแต่ละชนิดน้ำมัน ณ ปัจจุบัน (17 ธันวาคม 2557) น่าจะใกล้เคียงกับแผนการปรับโครงสร้างฯ ของภาครัฐพอสมควรแล้ว ยิ่งเมื่อผนวกกับมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบการปรับขึ้นอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลล่าสุดมาอยู่ที่ 3.25 บาท/ลิตร สิ่งที่จะมีการดำเนินการในระยะถัดไป ในส่วนที่เป็นไปได้ในระยะใกล้ จึงอาจเป็นการขยับอัตราภาษีและเงินนำส่งฯ ผ่านการออกประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และการออกประกาศของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ควบคู่กัน โดยเฉพาะสำหรับน้ำมันชนิดอื่นนอกจากดีเซล ซึ่งในที่สุดแล้วคงจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันแต่ละชนิดไม่ขยับจากระดับราคาปัจจุบัน หรือหากมีการขยับก็น่าจะเป็นการลดลงเล็กน้อยของราคาบางชนิด บนสมมติฐานที่กำหนดให้ราคาน้ำมันตั้งต้นจากโรงกลั่นและค่าการตลาดอยู่ในระดับคงที่
ภายใต้การประเมินข้างต้น ราคาขายปลีกน้ำมันแต่ละชนิดหลังการปรับโครงสร้างที่มีแนวโน้มทรงตัวหรือใกล้เคียงระดับปัจจุบัน นอกจากจะไม่สร้างแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อในประเทศ จะทำให้ภาครัฐมีรายรับจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากน้ำมันทุกชนิดราว 9,000 ล้านบาท/เดือน และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีรายได้ประมาณ 4,500 ล้านบาท/เดือน (ณ วันที่ 14 ธันวาคม 2557 กองทุนฯ มีฐานะสุทธิในแดนบวกที่ 12,539 ล้านบาท)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะข้างหน้าภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 หากโครงสร้างภาษีสรรพสามิตน้ำมันและเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คงอยู่ในอัตราปัจจุบันนั้น สถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงน่าจะเป็นบวกเพิ่มขึ้นไปที่ระดับประมาณ 40,000 ล้านบาทภายในครึ่งแรกของปี 2558 ซึ่งก็ถือได้ว่าค่อนข้างมั่นคงในระดับหนึ่ง
ขณะเดียวกันอาจนำมาสู่ทางเลือกเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องต่างๆ ที่ภาครัฐควรพิจารณา ได้แก่ 1.ปริมาณเงินกองทุนฯ ในส่วนที่ใช้สำหรับอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมัน E85 จะยังเป็นส่วนที่จำเป็นต้องกันไว้ เพื่อรักษาสมดุลด้านการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน 2.การพิจารณาจัดเก็บอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเพิ่มเติมให้กลับเป็นสู่ระดับ 5.31 บาท/ลิตร ด้วยการปรับลดเงินนำส่งเข้ากองทุนฯ ลงทดแทน ซึ่งประเด็นนี้นอกจากจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกแล้ว (น่าจะทำได้เมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกอ่อนตัวลงไปอีก) จะยังขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจไทยในขณะนั้น และความจำเป็นในการจัดหารายได้ของรัฐบาลด้วย แต่หากภาครัฐประเมินว่า ยังไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มการจัดเก็บอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ก็อาจจะพิจารณาเป็นการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันลง เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนให้กับภาคประชาชนแทนได้
นอกจากนี้ ด้วยโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตและเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ ปัจจุบัน ที่ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศอยู่ที่ระดับ 26.89 บาท/ลิตรนั้น หากภาครัฐยังมีแนวทางในการดูแลให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเคลื่อนไหวอยู่ในระดับไม่เกิน 30 บาท/ลิตร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาครัฐหรือกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะยังไม่มีความจำเป็นต้องเข้าไปอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลถ้าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกไม่ปรับขึ้นจนทะลุระดับ 70 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล (ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2557 ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 57.4 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล)
ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์ที่คาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะมีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องในปี 2558 ในระยะต่อไปเมื่อสถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีความมั่นคงเพียงพอในระดับหนึ่งแล้ว ก็เชื่อว่าภาครัฐจะส่งผ่านผลบวกดังกล่าวมาสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือน หรือหมายความว่าราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศน่าจะไม่ปรับตัวสูงขึ้นหรือมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงได้อีก
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมองว่าราคาน้ำมันในประเทศที่มีแนวโน้มปรับลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สนับสนุนการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ และเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2558