"แต่ถ้าทำแบบนั้นประเทศอื่นอยากเร่งส่งออกบ้าง ก็ไปทำแบบนั้นได้ เช่น อินโดนีเซีย มันจะวุ่นกันทั่วโลก ค่าของเงินก็ขาดความน่าเชื่อถือ อยู่ๆ จะเจตนาลดอย่างนั้นได้อย่างไร ค่าเงินมันต้องเป็นไปโดยสภาพของประเทศ" รมว.คลัง กล่าว
พร้อมระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทจะขึ้นอยู่กับสภาพของประเทศใน 3 ส่วนที่สำคัญ คือ 1. ขึ้นกับทุนสำรองว่ามีมากน้อยเพียงใด 2.ขึ้นกับดุลการชำระเงิน และ 3.ขึ้นกับความเชื่อมั่นทางการเมือง ซึ่งมองว่าโดยภาพรวมขณะนี้ประเทศไทยได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้นจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินทั้งมูดี้ส์ และเอสแอนด์พี ซึ่งทั้ง 2 สถาบันไม่ได้ปรับลดมุมมองของประเทศไทยลงไปจากเดิม
รมว.คลัง กล่าวว่า การบริหารจัดการค่าเงินสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่จำกัด ซึ่งในกรณีของรัสเซียนั้น เชื่อว่าถ้าไม่จำเป็น รัฐบาลรัสเซียคงไม่ตัดสินใจที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปถึง 17% จากเดิม 10.6% ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่สถานการณ์อยู่ในภาวะปกติ คงไม่จำเป็นต้องไปดำเนินการอะไร
"ค่าเงินจัดการได้ในขอบเขตที่มีจำกัด จริงๆ เขาหลีกเลี่ยงที่จะทำ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ เช่นรัสเซียเขาจำเป็นเขาถึงต้องทำ แต่ของเรามันอยู่ในสถานการณ์ที่ปกติ พวกจัดเครดิต มองว่าเศรษฐกิจเราแข็ง ถ้าเกิดไปลดค่าเงินลง 10% พรุ่งนี้คงยุ่งกันใหญ่ ไม่ต้องลดถึง 10 กว่า% หรอก หากตั้งใจลดแค่ 2% ก็วุ่นแล้ว ท่านเจ้าสัวคงปรารถนาดีเกินไป อยากเห็นผลเร็วๆ" นายสมหมาย กล่าว
โดยมองว่า การแนะนำของเจ้าสัวสหพัฒน์มาจากความหวังดี เนื่องจากท่านเองอยู่ในวงการการผลิตและการส่งออก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงค่าเงินจะมีผลต่อธุรกิจของท่านมาก แต่ท่านอาจจะขาดความเข้าใจในเรื่องระบบอัตราแลกเปลี่ยนว่ามันมีความสัมพันธ์กันทั่วโลก