ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังต่ำกว่าประมาณการ 6,862 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.1 ในขณะที่การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณการ 13,749 และ 1,392 ล้านบาท หรือร้อยละ 48.4 และ 5.2 ตามลำดับ
ในส่วนกรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 230,879 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,927 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 0.2) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 5,118 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.2 (ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกัน ปีที่แล้ว) เนื่องจากภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากการจำหน่ายกำไร (ภ.ง.ด. 54) จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 2,111 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.3 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.4) เนื่องจากภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาคเอกชนจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายเป็นสำคัญ และภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 2,022 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.0) เป็นผลจากการบริโภคที่ขยายตัวสูงกว่าเป้าหมาย โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 2,370 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.1) และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าต่ำกว่าเป้าหมาย 348 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.7 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.0)
ด้านกรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 66,523 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3,615 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.1) โดยภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 3,219 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.0 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 22.9) สาเหตุมาจากความต้องการซื้อรถยนต์ที่ยังไม่ฟื้นตัว นอกจากนี้ ภาษีเบียร์และภาษีสุรา จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 1,850 และ 1,746 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.9 และ 13.8 ตามลำดับ (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 11.9 และ 26.8 ตามลำดับ)
อย่างไรก็ดี ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษียาสูบจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 2,674 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 38.2) และภาษีน้ำมันจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 438 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.5) สาเหตุสำคัญมาจากการปรับอัตราภาษีน้ำมัน เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2557
และกรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 17,580 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,320 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.0 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.0) สาเหตุสำคัญมาจากอากรขาเข้าที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 1,323 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.1 เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาทในเดือนตุลาคม 2557 หดตัวร้อยละ 4.9 และร้อยละ 2.1 ตามลำดับ ทั้งนี้ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ยานบกและส่วนประกอบ เครื่องจักรและเครื่องใช้กล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ประกอบ ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า และพลาสติก
ในส่วนรัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้รวม 42,164 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 13,749 ล้านบาท หรือร้อยละ 48.4 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 4.5) โดยรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้สูงสุด 5 อันดับแรกในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ธนาคารออมสิน และการไฟฟ้านครหลวง ขณะที่หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 27,974 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,392 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.2) สาเหตุสำคัญมาจากการจัดเก็บค่าใบอนุญาตต่างด้าวที่สูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ ขณะที่กรมธนารักษ์จัดเก็บรายได้รวม 515 ล้านบาท ใกล้เคียงกับเป้าหมาย
การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 44,328 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,201 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.2 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 39,601 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,456 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.8 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 4,727 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 745 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.7
การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 2,646 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 193 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.8 เงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 2,235 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 219 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.9 "ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 ที่สูงกว่าเป้าหมาย เนื่องจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าเป้าหมายเป็นสำคัญ นอกจากนี้ การบริโภคภายในประเทศยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงดังกล่าว" นายกฤษฎา กล่าว
ส่วนในเดือนพฤศจิกายน 2557 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 162,304 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3,969 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.4 (ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.5) โดย 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 8,630 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.1 สำหรับภาษีที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเบียร์ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 3,571 1,141 1,075 และ 1,049 หรือร้อยละ 9.5 13.9 13.4 และ 1.8 ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 1,079 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.5 นอกจากนี้ การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าเป้าหมาย 2,079 และ 692 ล้านบาท หรือร้อยละ 66.6 และ 3.7 ตามลำดับ