การสัมมนาครั้งนี้ มีการบรรยายเรื่อง “ภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงบริบทเศรษฐกิจโลกในอนาคต" ซึ่งจะเห็นได้ว่า ปัจจุบันโลกได้เข้าสู่ศตวรรษแห่งการเปลี่ยนแปลง มีเงื่อนไขต่างๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมืองโลก และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี อันเป็นนวัตกรรมล่าสุดของสังคมมนุษย์ เงื่อนไขต่างๆ ดังกล่าวได้ถูกเชื่อมเข้าสู่ระบบเดียวกับภายใต้กติกาอันเป็นสากล มีผลให้ประเทศต่างๆ ต้องปรับกระบวนทัศน์ในการพัฒนาและนโยบาย คือการพัฒนาเพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยใช้องค์กรระดับนานาชาติมาเปิดเจรจา เพื่อให้ประเทศต่างๆ มีโอกาสเปิดเสรีทางการค้า แสวงหาโอกาสใหม่ๆ เพื่อความเจริญเติบโตทางสังคมเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันภาคการเกษตรของประเทศไทย ถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากภาคเกษตรเป็นทั้งภาคการผลิต และภาคเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีความหลากหลายทั้งด้านสินค้า อาหาร เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชากร จึงจำเป็นที่ภาคเกษตรต้องมีการปรับตัวและเรียนรู้กับกระแสโลกาภิวัตน์ และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้น เพื่อการพัฒนาได้อย่างยั่งยืน โดยประเทศไทย มีการพึ่งพารายได้ส่วนใหญ่จากการส่งออกถึงร้อยละ 75 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
ดังนั้น เมื่อประเทศผู้นำเข้าต่างๆ เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงจำเป็นต้องเตรียมการเพื่อลดผลกระทบหรือปรับตัวให้สามารถรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และต้องคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในบริบทต่าง ๆ เพื่อหาแนวทาง มาตรการ ในการป้องกัน โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมกันในการศึกษา วิเคราะห์ กำหนดแนวทาง มาตรการ ปรับตัวให้ทันกระแสโลกาภิวัฒน์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าการสัมมนาในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศ ให้สามารถปรับตัวทันกระแสโลกาภิวัตน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป